AAV ขายเครื่องบิน 10 ลำ มูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาท พร้อมเช่ากลับ

AAV ขายเครื่องบิน 10 ลำ มูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาท พร้อมเช่ากลับ

บอร์ด AAV ไฟเขียวขายเครื่องบิน 10 ลำ ให้ Avolon มูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาท พร้อมทำสัญญาเช่ากลับ จำนวน 9 ลำ มูลค่า 8.61 พันล้านบาท เพื่อบริหารฝูงบิน นำเงินขายไปชำระหนี้ เงินสดเหลือ 2.7 พันล้านบาท นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนขยายธุรกิจ คาดทำธุรกรรมเสร็จไตรมา

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติการเข้าทำธุรกรรมขายอากาศยานและเช่าอากาศยานกลับ (Aircraft Sale and Leaseback Transaction) ระหว่างบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักของบริษัทฯ กับ Avolon Aerospace Leasing Limited หรือบุคคลที่ Avolon Aerospace Leasing Limited กำหนด (Avolon) ซึ่งประกอบไปด้วยการขายอากาศยานจำนวน 10 ลำ (อากาศยานที่ขาย) ให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทให้เช่าซื้ออากาศยาน (Aircraft Leasing Company) และการเช่าอากาศยานที่ขาย จำนวน 9 ลำ กลับมาเพื่อใช้อากาศยานที่เช่าดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป

โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้ คือ อนุมัติให้ TAA เข้าทำรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์โดยการขายอากาศยานให้แก่ Avolon โดยมีมูลค่ารวมของค่าตอบแทน 426.7 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 12,891.46 ล้านบาท อนุมัติให้ TAA เข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์โดยการเช่าอากาศยานที่เช่าจาก Avolon โดยธุรกรรมดังกล่าวจะมีมูลค่าประมาณ 285.06 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 8,612.23 ล้านบาท

สำหรับขณะนี้ TAA ได้เข้าทำสัญญาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมขายทรัพย์สินและธุรกรรมเช่ากับ Avolon แล้ว จำนวน 5 ลำ ซึ่ง บริษัทฯ คาดว่า TAA จะเข้าทำสัญญาภายใต้ธุรกรรมขายทรัพย์สินและธุรกรรมเช่าจนครบถ้วนภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 และคาดว่าทั้งสองธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เช่นกัน

อย่างไรก็ดี หาก TAA ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการขายอากาศยานส่วนที่เหลือจำนวน 5 ลำ ได้ จะส่งผลให้สัญญาขายและเช่าอากาศยาน จำนวน 5 ลำ ที่ TAA ลงนามไปแล้วสิ้นผลบังคับใช้ไปด้วย เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น

สำหรับการทำธุรกรรมขายอากาศยานและเช่าอากาศยานกลับในครั้งนี้เป็นการดำเนินกลยุทธ์บริหารฝูงบินของ TAAเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับมูลค่าเครื่องบินในอนาคตอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะทำให้อากาศยานรุ่นใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย TAA จะเข้าทำธุรกรรมขายอากาศยานในขณะที่มูลค่าและความต้องการยังอยู่ในระดับสูง และ TTAมีความสามารถในการลงทุนเพิ่มขึ้นจากการนำเงินที่ได้จากธุรกรรมขายอากาศยานไปชำระหนี้เงินกู้ที่

TAA กู้ยืมมาจากสถาบันการเงินเพื่อเช่าซื้ออากาศยานที่ขาย ซึ่งจะช่วยให้ TAA ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทฯ และ TAA เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สามารถรองรับการจัดหาอากาศยานแอร์บัส A321 นีโอ ซึ่งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ทั้งในด้านการประหยัดน้ำระยะบินที่ไกลกว่า การรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และลดมลภาวะทางเสียง เป็นต้น

ภายหลังจากการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อเช่าซื้ออากาศยานที่ขายดังกล่าว TAA จะมีเงินสดสุทธิประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ/หรือ การขยายธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม TAA จะมีการรับรู้
ค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงทางบัญชีที่สูงขึ้นเมื่อเปลี่ยนสภาพจากการเช่าทางการเงิน (Finance Lease) เป็นการเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง