บ.เทคโนโลยีจีนพึ่งสิงคโปร์รุกตลาดอาเซียน

บ.เทคโนโลยีจีนพึ่งสิงคโปร์รุกตลาดอาเซียน

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ที่กำลังหนีจากกฏระเบียบที่เข้มงวดในประเทศตัวเอง เริ่มมองเห็นศักยภาพของสิงคโปร์ ในฐานะเป็นสปริงบอร์ด หนุนส่งให้รุกเข้าทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจอื่นๆบนแพลทฟอร์มดิจิทัลในตลาดอาเซียน ที่มีมูลค่ามหาศาล

หลังจากยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิงส์ สยายปีกเข้ามาในอาเซียนแล้ว บริษัทฟินเทคอื่นๆของจีน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจ่ายเงินทางดิจิทัลก็เริ่มเข้ามายังภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยใช้สิงคโปร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแข็งแกร่งเป็นเครื่องมือช่วยให้ยึดหัวหาดธุรกิจการเงินดิจิทัลในภูมิภาคนี้ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมาเลเซียจะเป็นประเทศรายต่อไปที่บริษัทฟินเทคจีนหวังพึ่งพา

เมื่อวันอังคาร (7ม.ค.)ธนาคารกลางของสิงคโปร์ ระบุว่า ขณะนี้ได้รับใบสมัครเพื่อขดอนุญาตทำดิจิทัล แบงก์กิ้งจากบริษัทต่างๆ 21 แห่ง โดยไม่ได้เปิดเผยชื่อว่ามีบริษัทใดบ้างที่ยื่นใบสมัคร แต่มีบริษัทจีนอย่างน้อย 4 แห่งที่ยืนยันว่าได้ยื่นใบสมัครเพื่อขอทำธุรกิจด้านการเงินดิจิทัลครั้งนี้ รวมถึง บริษัทในเครืออาลีบาบาอย่างแอนท์ ไฟแนนเชียล

ปัจจุบัน บริษัทฟินเทคจีนถือเป็นผู้นำในตลาดโลก โดยมีการทำธุรกรรมทางออนไลน์ในจีนในปี 2560 มูลค่าสูงถึง 17 ล้านล้านดอลลาร์สูงกว่าตลาดสหรัฐมากกว่า50เท่า

“สิงคโปร์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”หง เฟิง ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานอาวุโสบริษัทเสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังสัญชาติจีน กล่าวและว่า เสี่ยวหมี่ ซึ่งรวมทุนกับกลุ่มบริษัทที่นำโดยเอเอ็มทีดี กรุ๊ป บริษัทให้บริการทางการเงินมีฐานดำเนินงานอยู่ในฮ่องกง จะนำ“พลังงานใหม่”เข้ามาสู่ตลาดอาเซียน โดยใช้เทคโนโลยี5จีและเทคโนโลยีล้ำยุคอื่นๆ

แอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งให้บริการการจ่ายเงินทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีชื่อว่า อาลีเพย์ มีลูกค้าในจีนประมาณ 900 ล้านคน และปีที่แล้ว บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลในฮ่องกง และเข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านการจ่ายเงินในอินเดียที่ชื่อเพย์ทีเอ็ม เพราะฉะนั้น การประสบความสำเร็จในการยื่นขอใบอนุญาตจากทางการสิงคโปร์ จึงมีนัยสำคัญอย่างมากต่อการขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดอาเซียน

“เราพยายามหาลู่ทางที่จะสร้างความสัมพันธ์ระดับลึกและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกับทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงินในสิงคโปร์ และเราทำงานร่วมกันเพื่อทำให้การบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)”โฆษกบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล กล่าว

157861769563

ขณะที่ บริษัทยิลเลียน กรุ๊ป ของจีน ซึ่งเกี่ยวพันกับบริษัทเหมยเถียน เตียนปิง บริษัทให้บริการส่งอาหาร ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่นำโดยบริษัทไอฟาสต์ บริษัทฟินเทคของสิงคโปร์

“ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตสูง ซึ่งบรรดาธนาคารดิจิทัลสามารถสร้างความแตกต่างทางการเงินในตลาดแห่งนี้ได้ นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นตลาดใหญ่สุดที่เข้าถึงได้ง่าย เมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐที่เดินมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทั้งยังเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูงและมีกฏระเบียบเข้มงวด”เซนนอน แคปรอน ผู้อำนวยการแคปรอนเอเชีย บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยอุตสาหกรรมการเงินในสิงคโปร์ กล่าว

แคปรอน ยังกล่าวด้วยว่า กฏระเบียบที่เข้มงวดในอุตสาหกรรมฟินเทคในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการจ่ายเงินดิจิทัล และการบริหารจัดการความมั่งคั่งจะผลักดันให้บริษัทจีนหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

ธนาคารกลางของสิงคโปร์ จะประกาศผลการตัดสินว่าจะให้ใบอนุญาตแก่บริษัทใดบ้างในเดือนมิ.ย.และบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้จะเริ่มทำธุรกิจได้เต็มรูปแบบประมาณกลางปี 2564

157861771189

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่สิงคโปร์เท่านั้นที่เปิดเสรีทางการเงิน มาเลเซีย เองก็เตรียมออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลแก่บริษัทชาติต่างๆที่สนใจเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางมาเลเซีย ประกาศว่าจะเปิดรับใบสมัครเพื่อขอใบอนุญาตดำเนินกิจการธนาคารดิจิทัลภายในปีนี้

ที่ผ่านมา บริษัทอี-คอมเมิร์ซจีนหลายแห่งขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดอาเซียนและประสบความสำเร็จในการทำรายได้และผลกำไรด้วยดี โดยการขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคนี้มีทั้งการเข้าซื้อกิจการและการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทในท้องถิ่น เช่นกรณีของอาลีบาบาเข้าซื้อกิจการลาซาดา ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ และลงทุนในบริษัทโทโกพีเดียดอทเจดีดอทคอมของอินโดนีเซีย และเปิดตลาดช็อปปิ้งออนไลน์ในไทยผ่านการเป็นหุ้นส่วนกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในไทย