'แรงงาน' ทรัพยากรมีค่าระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์

'แรงงาน' ทรัพยากรมีค่าระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์

แรงงานฟิลิปปินส์ ทรัพยากรมีค่าในระบบเศรษฐกิจเมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน จึงทำให้ฟิลิปปินส์ต้องปรับแผนให้ความช่วยเหลือพลเรือนที่ออกไปทำมาหากินในอิหร่านให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย

ฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด รวมทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน จึงทำให้ฟิลิปปินส์ต้องปรับแผนให้ความช่วยเหลือพลเรือนที่ออกไปทำมาหากินในอิหร่านให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย

แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในตะวันออกกลาง ส่งเงินกลับบ้านรวมกันมากถึง 5,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 162,972 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงเดือนต.ค.เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์อย่างมาก

ช่วงที่สหรัฐและอิหร่านตึงเครียดถึงขีดสุด ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ก็เรียกประชุมฉุกเฉินพร้อมสั่งการให้กองทัพเตรียมส่งเรือรบและเครื่องบินทหารไปตะวันออกกลางเพื่ออพยพชาวฟิลิปปินส์หลายพันคนออกจากอิรักและอิหร่านทันที ตอกย้ำให้เห็นถึงความกังวลของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่กลัวว่าประชาชนของตนจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

157861719023

ดูเตอร์เต ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลว่าอิหร่านจะตอบโต้สหรัฐ ซึ่งอิหร่านก็ตอบโต้สหรัฐจริง ด้วยการยิงขีปนาวุธ16 ลูกถล่มฐานทัพสหรัฐ2แห่งในอิรัก แต่ดูเตอร์เตก็ยังกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงและการนองเลือดในตะวันออกกลาง โดยปัจจุบัน คาดว่ามีชาวฟิลิปปินส์ทำงานอยู่ในอิรักและอิหร่านจำนวนกว่า 7,000 คน รวมทั้งที่ทำงานให้กับบริษัทของสหรัฐ และประเทศตะวันตกที่มีฐานอยู่ในกรุงแบกแดด

นอกจากนี้ ยังมีชาวฟิลิปปินส์อีกจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ที่คาดว่าตัวเลขโดยรวมอาจสูงถึงหลายแสนคน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นแม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ลูกเรือ และอาชีพทักษะฝีมือระดับสูงอื่นๆ

แต่ไม่ได้มีแค่ฟิลิปปินส์ประเทศเดียวที่เร่งช่วยเหลือพลเรือนของตนในประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง ประเทศอื่นๆในเอเชียที่มีประชาชนจำนวนมากไปทำงานอยู่ในตะวันออกกลางก็จัดทำแผนอพยพประชาชนของตนออกจากอิรักและอิหร่านด้วยเหมือนกัน อย่างกรณีเกาหลีใต้ ที่มีพลเรือนทำงานในอิรักและอิหร่าน 1,900 คน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง นักธุรกิจและนักศึกษา ก็เตรียมแผนอพยพชาวเกาหลีใต้ไว้เหมือนกันหากจำเป็น

แต่ประเทศที่ประชากรไปทำงานในพื้นที่ขัดแย้งมากที่สุดคืออินเดีย มีชาวอินเดียกว่า 7 ล้านคนเข้าไปอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งรัฐบาลนิว เดลีต้องจัดทำแผนอพยพพลเรือนของตนเช่นกัน

นอกจากจัดทำแผนอพยพพลเรือนออกจากอิหร่านและอิรักแล้ว ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปอิหร่านและอิรัก เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วานนี้ (9ม.ค.)รัฐบาลฟิลิปปินส์ตัดสินใจอนุญาตให้พลเรือนที่ทำงานอยู่ในอิหร่านและเลบานอน ยังคงทำงานต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องออกจากสองประเทศนี้เพราะสถานการณ์ตึงเครียดเริ่มบรรเทาลงแต่ยังคงคำประกาศอพยพพลเรือนออกจากอิรักไว้เหมือนเดิม

“สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังไม่สามารถคาเดาได้ อาจจะมีการโจมตีที่สร้างเซอร์ไพรซ์มากๆตามมาอีก เราต้องเตรียมพร้อมไว้ทุกด้านเพื่อช่วยเหลือพลเรือนของเราที่ไปทำมาหากินในประเทศต่างๆในภูมิภาคตะวันออกกลาง ”รอย ซิมาทู รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม อดีตนายพลเกษียณ ที่ได้รับการมอบหมายจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ให้เป็นทูตพิเศษประจำตะวันออกกลาง กล่าว

157861720349

ปัจจุบัน ชาวฟิลิปปินส์จำนวนกว่า 2 ล้านคนทำงานและอาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง ในจำนวนนี้ แยกเป็นอยู่ในเลบานอนจำนวนกว่า 30,000 คน และอยู่ในอิหร่านจำนวนกว่า 1,000 คน อีกทั้งยังมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฏหมายในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ คือธุรกิจการบริการ และการบริโภคในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว การเติบโตในภาคบริการของฟิลิปปินส์่มีสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี ซึ่งสามารถดูดซับแรงงานได้กว่า 50%

ธุรกิจในภาคบริการที่เป็นดาวเด่นของฟิลิปปินส์ คือกิจการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจคอลล์เซนเตอร์ ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีละ 15% อานิสงส์จากข้อได้เปรียบของคนฟิลิปปินส์ด้านภาษาอังกฤษ ทำให้แรงงานฟิลิปปินส์เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น พยาบาล และครูสอนภาษา

ฟิลิปปินส์มีประชากรมากถึง 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย การบริโภคในประเทศจึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งการโอนเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ต่างด้าวเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออก ยังช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคของคนในประเทศ

ที่สำคัญที่สุด ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก โดยมีค่าเฉลี่ยอายุของประชากรอยู่ที่ 23 ปี เทียบกับไทยมีค่าเฉลี่ยอายุที่ 35 ปี และมีการประเมินว่าในปี 2563 ประชากรฟิลิปปินส์จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 113 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการบริโภค และกำลังแรงงานที่จะเติบโตสูงขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำธุรกิจคอลล์ เซนเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจภาคบริการที่มีการเติบโตสูง นอกจากจุดแข็งด้านภาษาแล้ว แรงงานที่มีราคาถูก หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของค่าจ้างพนักงานคอลล์ เซนเตอร์ในสหรัฐ ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งใน สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย อย่างเช่นบริษัท เอทีแอนด์ที เจพีมอร์แกน เชส เอ็กซ์พีเดีย ซิตี้แบงก์ เอชพี และออราเคิล มาใช้เอาท์ซอร์สศูนย์คอลล์เซนเตอร์ในฟิลิปปินส์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน

157861721365

เพราะฉะนั้น แรงงานฟิลิปปินส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าในระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้อย่างแท้จริง การปกป้องแรงงานจึงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้นๆของรัฐบาลดูเตอร์เต