‘คาร์ลอส กอส์น’ เปิดมุมมืดยุติธรรมญี่ปุ่น

‘คาร์ลอส กอส์น’ เปิดมุมมืดยุติธรรมญี่ปุ่น

คาร์ลอส กอส์น อดีตผู้บริหารเรโนลต์-นิสสัน ออกสื่อครั้งแรกนับตั้งแต่หนีประกันไปเลบานอน เปิดฉากแฉระบบกฎหมายญี่ปุ่น วิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งตั้งแต่อัตราการถูกตัดสินว่าผิดที่สูงมาก ไปจนถึงสภาพการถูกควบคุมตัวก่อนดำเนินคดีนาน 130 วัน

สำนักข่าวเอเอฟพี รวบรวมประเด็นสำคัญที่อดีตผู้บริหารค่ายรถดังวิจารณ์และทางการญี่ปุ่นตอบโต้ เริ่มต้นจากอัตราการตัดสินให้มีความผิดที่สูงถึง 99% อัยการญี่ปุ่นคุยโวว่าเป็นความสำเร็จที่อัยการทั่วโลกจะต้องอิจฉา เมืื่อพิจารณาส่งฟ้องคดีอัยการชนะถึงกว่า 99% ซึ่งกอส์นอ้างว่าด้วยอัตราที่สูงผิดปกตินี่เอง เป็นหลักฐานว่าคดีของเขาจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม

“ผมต้องเจอกับระบบที่อัตราการตัดสินว่ากระทำความผิดสูงถึง 99.4%” กอส์นโอดครวญและว่ายิ่งเป็นชาวต่างชาติโอกาสยิ่งสูงกว่านี้

ทางการญี่ปุ่นไม่ปฏิเสธว่า อัยการชนะคดีเกือบทั้งหมดที่ขึ้นสู่ศาล แต่นี่คือหลักฐานเบื้องต้นชี้ว่า ญี่ปุ่นเอาจริงในการดำเนินคดี

“อัยการฟ้องร้องเฉพาะผู้ต้องสงสัยที่มีหลักฐานเพียงพอให้ศาลต้องตัดสินว่ากระทำความผิด เพื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ต้องช้ำใจ จึงไม่ถูกต้องถ้าจะมาโต้แย้งว่า คนๆ หนึ่งเข้าไม่ถึงการตัดสินที่เป็นธรรมเพราะญี่ปุ่นมีอัตราการพิพากษาว่าผิดสูง” มาซาโกะ โมริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นตอบโต้เสียงวิจารณ์ของกอส์น

157861531274

ประเด็นต่อมากอส์นอ้างว่า เขาถูกควบคุมตัวนานกว่าจะพิจารณาคดี หลังถูกจับแบบช็อกโลกเมื่อเดือน พ.ย.2561 เขาถูกควบคุมตัว 2 ช่วงนานกว่า 4 เดือน ช่วงแรกลากยาวเต็มที่ 108 วันกว่าจะได้ประกันตัว

กอส์นและทีมกฎหมายกล่าวว่า การขยายเวลาควบคุมตัวทำให้เขาเป็น “ตัวประกันของระบบยุติธรรม” อัยการพยายามฝืนเจตนารมณ์ของเขา และบีบให้เขาสารภาพข้อหาประพฤติผิดทางการเงินที่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด เขารู้สึกเหมือนตกอยู่ในระบบที่ต้องการเพียงอย่างเดียวคือบีบให้จำเลยสารภาพ

ระบบกฎหมายญี่ปุ่นเปิดช่องให้ควบคุมตัวนานกว่าจะเริ่มพิจารณาคดี จนถูกวิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศว่า วิธีนี้เป็นเครื่องมือที่อัยการใช้บีบเอาคำสารภาพจากจำเลย กรณีของกอส์น อัยการพยายามอย่างมากให้กอส์นติดคุก อ้างว่าถ้าปล่อยออกมาเขาอาจหนีไปก็ได้ เพราะมีช่องทางการเงินและเครือข่ายต่างประเทศกว้างขวาง

“ดูๆ แล้วกอส์นส่อเค้าหนีคดีสูงมาก แล้วเขาก็หนีออกจากประเทศไปจริงๆ” อัยการกล่าวหลังนักธุรกิจดังรายนี้จัดแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.)

นอกจากนี้กอส์นยังสวดยับถึงสภาพที่เขาต้องเจอในศูนย์ควบคุมตัวโตเกียวในเขตโคสุเกะ โดยเผยว่า เขาถูกสอบปากคำตลอดเวลาโดยไร้ทนาย ต้องอยู่ในห้องขังที่เปิดไฟตลอดเวลา อนุญาตให้อาบน้ำได้แค่สัปดาห์ละสองครั้งเท่านั้น

157861526534

โดยปกติเรือนจำญี่ปุ่นไม่ค่อยถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติวิจารณ์ เนื่องจากไม่ค่อยเกิดความรุนแรง ห้องขังแต่ละห้องขนาดราว 6.5 ตารางเมตร หรือใหญ่กว่านั้นเล็กน้อย

ทางการญี่ปุ่นแก้ตัวเรื่องระเบียบการสอบปากคำว่า ระหว่างนั้นมีการบันทึกวีดิโอไว้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิไม่ตอบคำถามและมีสิทธิพบทนายนอกการสอบปากคำด้วย

ตอนที่กอส์นได้ประกันตัวรอบสอง เงื่อนไขเข้มงวดมาก ทั้งต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิดถึงภายในบ้านใช้อินเทอร์เน็ตได้ที่สำนักงานทนายความเท่านั้น และห้ามติดต่อ “แครอล” ภรรยา

อัยการให้เหตุผลว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อหาหนึ่ง และทั้งคู่อาจช่วยกันทำลายหลักฐาน เขาเคยติดต่อแครอลผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์เพียง 2 ครั้งเท่านั้นโดยต้องขออนุญาตจากศาล

อัยการอ้างว่าจำเป็นต้องใช้ระเบียบเข้มงวดป้องกันไม่ให้กอส์นหนีออกนอกประเทศ กอส์นโต้ว่านี่คือการแก้แค้น อัยการตั้งใจขวางไม่ให้เขาติดต่อภรรยาได้เพื่อสกัดเขา และระเบียบนี้มีส่วนอย่างมากให้เขาตัดสินใจหนี

“สำหรับหลายๆ คน การไม่ให้พบภรรยาอาจไม่ใช่การลงโทษ แต่ไม่ใช่สำหรับผม” กอส์นยิงมุก

อดีตเจ้าพ่ออุตสาหกรรมรถยนต์ใช้เวลาแถลงข่าวนาน 2 ชั่วโมง ยืนยันว่าเขาไม่มีทางได้รับความยุติธรรมได้เลยในญี่ปุ่น ข้อหาที่เขาเจอ เช่น รายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงและยักยอกกองทุนนิสสันไปใช้ส่วนตัว ตั้งใจโค่นเขาเพื่อเหตุผลการเมือง

“ผมไม่มีทางได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมนี่ไม่ใช่เรื่องของความยุติธรรม” เจ้าตัวตอบคำถามนักข่าวทั้งในภาษาอังกฤษ อารบิก ฝรั่งเศส และโปรตุเกส

สำหรับรัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นเมื่อถูกแฉขนาดนี้ก็ต้องตอบโต้ว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง สิ่งที่พูดมาไม่ใช่เหตุผลชอบธรรมต่อการหนีออกจากญี่ปุ่น

“ถ้าจำเลยมีอะไรจะพูดต่อคดีอาญาของเขา ควรนำหลักฐานที่เป็นรูปธรรมมาโต้แย้งในศาล ถ้าอ้างว่าตนบริสุทธิ์ ก็ควรมาสู้คดีภายใต้ระบบยุติธรรมในญี่ปุ่น ที่ที่เขาเคยทำธุรกิจ และควรมีหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามที่กล่าวอ้าง”

157861528235

ด้านฮิโรโตะ ซาอิคาวะ อดีตซีอีโอนิสสัน ที่เคยเป็นเด็กในคาถาของกอส์น และลาออกหลังเกิดเรื่องฉาวยืนยันว่า กอส์นหนีไปเพราะกลัวถูกพบว่ามีความผิด

“การวิจารณ์ระบบยุติธรรมญี่ปุ่นแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้เลย” ซาอิคาวะกล่าว