'อีโคสมาร์ทกรีนเฮาส์' พลิกโฉมอุตฯเกษตรไทย

'อีโคสมาร์ทกรีนเฮาส์' พลิกโฉมอุตฯเกษตรไทย

สตาร์ทอัพสายเกษตรขานรับวิกฤติแล้งโชว์ "อีโคสมาร์ทกรีนเฮาส์" ใช้น้ําน้อยติดตั้งซอฟต์แวร์คุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือน ช่วยวิเคราะห์ปริมาณน้ําและสารอาหารตามที่พืชแต่ละชนิดต้องการ หนทางใหม่สู่การประหยัดน้ําสูงสุด หวังอัพเกรดภาคเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ

พัฒนาระบบให้น้ําอิงสภาพพืช

คมสันต์ สุขเสนากรรมการผู้จัดการบริษัทอีพาวเวอร์ เซอร์วิส จํากัด นําเสนอ “อีโคสมาร์ท กรีนเฮาส์” ในงาน Clean Tech นวัตกรรมสู่เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกว่า อีพาวเวอร์ฯ เป็น สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ดําเนินการมาแล้ว กว่า 4 ปีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจในเรื่องซอฟต์แวร์โรงเรือนเลี้ยงสัตว์จากนั้นได้ขยายฟังก์ชันนําไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

พร้อมทั้งมองเห็นช่องทางในการต่อยอดสู่ด้านการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นิยมในปัจจุบันและมีนโยบายสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับมีการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ปัญหาหลักของประเทศไทยคือทรัพยากรน้ําค่อนข้างจํากัด และอุณภูมิของน้ําที่เหมาะสมกับพืชก็คาดเดาได้ยาก ทําให้ผลผลิตที่ได้ไม่เต็มศักยภาพอีกทั้งแรงงานในภาคการเกษตรขาดแคลน

จึงได้ออกแบบระบบควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือน หรือ Climate Controller โดยนําเทคโนโลยีอินเวอเตอร์เซ็นเซอร์คอยคํานวณว่าในโรงเรือนที่ปลูกพืชมีอุณหภูมิเหมาะสมหรือไม่ หากมีอุณหภูมิที่ร้อนสูงจนเกินไประบบก็จะสั่งให้พัดลมหรือเครื่องพ่นหมอกทํางานได้โดยอัตโนมัติ โดยจะปรับได้ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นและแสง ทําให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้แรงดันน้ําที่เกินความจําเป็นในท่อ อีกทั้งลดอุณหภูมิน้ําได้ต่ํากว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อจ่ายน้ําเย็นให้กับพืชผักในช่วงหน้าร้อน ส่วนใหญ่นิยมติดตั้งในฟาร์มเห็ด กล้วยไม้

ทั้งนี้สิ่งที่ควรคํานึงก่อนการติดตั้งระบบ คือการออกแบบระบบน้ําที่เป็นเสมือนหัวใจสําคัญของการประหยัดน้ํา โดยอาศัยการมีพื้นฐานการออกแบบที่ถูกต้องก่อนจะต่อยอดไปสู่การนํานวัตกรรมมาใช้เสริมทัพซึ่งการที่จะประหยัดน้ําได้นั้นจะต้องคํานึงในการวางแผนการใช้น้ําอย่างมีประสิทธิภาพ

157858024834

โดยมีปัจจัยต่างๆ คือ 1.แหล่งน้ําสําหรับการเพาะปลูก ต้องทราบพื้นฐานทางกายภาพเพื่อจะได้รู้ว่าน้ําในแหล่งที่ใช้มีค่าสังกะสีมากน้อยแค่ไหนและต้องจะปรับค่าพีเอชหรือไม่ 2.ขนาดของพื้นที่ ระยะเวลาในการรดน้ํา ทั้งแบบเป็นสวนเปิด สวนไฮโดรโปรนิกส์ เนื่องจากขนาดและพื้นที่จะส่งผลต่อระยะเวลาการให้น้ํา 3.ชนิดของพืช 4.ความพิเศษอื่นๆ อย่างเช่นเมล่อนที่ใช้วิธีการงดน้ํา 7วันจะทําให้ ผลหวานน่ารับประทานโดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย

เล็งบยายสู่ตลาดอาเซียน

หนึ่งในอุปกรณ์หลักในการออกแบบติดตั้ง ระบบรดน้ําคือ “ปั้มน้ํา” ซึ่งเป็นหัวใจของระบบรดน้ําทําหน้าที่สูบจ่ายน้ําส่งน้ําเข้าระบบลําเลียงน้ํา ดังนั้นจะต้องเลือกปั้มน้ําให้เหมาะสมกับชนิดของพืช ปัจจุบันเกษตรกรจะนิยมใช้เป็นปั้มไฟฟ้า AC motorโดยนําโซลาร์เซลล์มาช่วย ในการประหยัดน้ํา ตัวอย่างที่ประเทศไต้หวันมีการเก็บข้อมูลด้วยนักสถิติทําการเก็บข้อมูลพืชแต่ละตัวจะทําให้รู้ว่าแต่ละต้นแต่ละชนิดของพืชใช้น้ําเท่าไร ข้อมูลพวกนี้จะมาลิงค์กับการเลือกปั้มน้ําได้อย่างเหมาะสม

157858028716


ถัดมาคืออุปกรณ์ระบบรดน้ําอัตโนมัติ (Automatic System) โดยอีพาวเวอร์ฯพัฒนาตัวระบบจะจ่ายน้ําได้อัตโนมัติมีเซนเซอร์คอยวัดความชื้นในดินและจะเฉลี่ยเข้าไปสู่คอนโทรลเลอร์ที่ทําการคํานวณน้ํา อุณหภูมิความชื้น จะทําให้ทราบว่าต้องจ่ายน้ําในอัตราเท่าไร

หลักการเบื้องต้นในการพัฒนาระบบโรงเรือนอัจฉริยะนั้นจะต้องรู้ระบบน้ําก่อนจะทําการเกษตรใดๆ เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมในหลายๆด้าน และทําให้วางแผนการติดตั้งระบบอื่นๆตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ไม่จําเป็น รวมถึงสามารถขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ํา และแหล่งน้ําตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรน้ําได้อย่างสูงสุด

“ปัจจุบันเราทําความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกือบทั่วทุกภูมิภาคทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีเป้าหมายจะขยายให้ครบทั่วทั้งภูมิภาค

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบจ่ายน้ําและปุ๋ยอัจฉริยะ Smart Fertigation System มีความแม่นยําสูงประหยัดน้ําได้มหาศาล ซึ่งในเชิงพาณิชย์ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยในปีนี้ได้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 40 ระบบซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในประเทศไทยเพราะเนื่องจากมีความแม่นยําสูงและราคาถูกกว่าต่างชาติ 3-4 เท่า และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะขยายสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น