อสังหาฯชู 'เซอร์คูล่าอีโคโนมี' เทรนด์โลกดันธุรกิจยั่งยืน..!!

อสังหาฯชู 'เซอร์คูล่าอีโคโนมี' เทรนด์โลกดันธุรกิจยั่งยืน..!!

ภาวะโลกซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งเป็นมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำกัดและกำลังจะหมดลง ซึ่งเป็นผลเสียของโมเดลเศรษฐกิจแบบเส้นตรง(Linear Economy)

ที่ผลิตใช้แล้วทรัพยากรแล้วหมดไป กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลกที่มีประชากรกว่า8,000ล้านคนในปี2566จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรในทรัพยากรจำกัด หากมีการใช้ทรัพยากรเช่นนี้ต่อไป ต้องมีโลกใบใหม่อีก 3 ใบจึงจะเพียงพอต่อประชากรบนโลก

นี่จึงเป็นเป็นที่มาของการหาทางออกให้กับโลกที่มีทรัพยากรจำกัด โดย บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nation -UN) กล่าวไว้ว่าเราไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง ความจริงที่ประชากรโลกต้องตื่นตัวลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเปลี่ยนโลก โดยนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ “Circular Economy” คือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การผลิตที่นำวัสดุต่างๆ ที่ผลิตแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยให้กลายเป็นของเหลือทิ้ง เพิ่มขยะบนโลก เป็นหัวใจหลักที่ช่วยทำให้โลกกลับไปสู่จุดสมดุล

 โมเดล Circular Economy ยังถือเป็นหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะช่วยขับเคลื่อน17เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs)ขององค์การสหประชาชาติ (UN -United Nations) เพื่อหยุดวิกฤติโลกร้อนซึ่งUNได้ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี2558โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนจาก175ประเทศภายใต้ความตกลงปารีส และSDGs (Paris Agreement and the SDGs)ขับเคลื่อนSDGsแก้ไขปัญหาโลกอย่างยั่งยืน เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน สันติภาพ ความสงบสุข พร้อมกันกับเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า1.5องศาเซลเซียสภายใน ปี 2573(คศ.2030)

ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เริ่มตื่นตัวนำร่องปฏิบัติเพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ที่มีผลกับตลาด เมื่อปริมาณการใช้พลาสติกลดลง กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของเมืองไทยจึงต้องปรับกระบวนการผลิตใหม่เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไป

อาทิ เอสซีจี เคมิคอลส์ และดาว เคมิคอล ลงนามข้อตกลง(MOU) ร่วมกันวิจัยและพัฒนานำพลาติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ (New Model)ที่สามารถแยกขยะพลาสติก และสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ 3 กระบวนการ คือ การรีไซเคิล โดยการนำพลาสติกไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การแปรรูปเป็นวัสดุต่างๆ หรือการพัฒนารีไซเคิลพลาสติกกลับไปสู่วัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจนถึงกระบวนการนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตเป็นพลาสติก  เช่น วัตถุดิบจากปิโตรเคมี โดยขึ้นอยู่กับการปลอมปนมากน้อยของชนิดพลาสติก นั่นคือกลุ่มธุรกิจพลาสติก นำร่องไปแล้วคือการนำพลาสติกผลิตเป็นถนนผสมกับยางมะตอย ในนิคม อมตะซิตี้ ชลบุรี,และยังใช้ในหมู่บ้านจัดสรรโครงการแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด เสรีไทย

ขณะที่ภาคธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งมีพันธมิตรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทเพื่อนำวัสดุก่อสร้างมาใช้หมุนเวียนตามที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ (Circular Economy in Cement Industry(CECI) แก้ไขปัญหาขยะจากการก่อสร้าง โดยการร่วมมือกับ 3 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน)ดำเนิน “โครงการRecycle Concrete Road” นำเศษคอนกรีตที่มีส่วนผสมของซีเมนต์ เช่น ก้อนปูน แผ่นพื้น มาใช้ทดแทนหินธรรมชาติในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อเทเป็นถนนคอนกรีตในโครงการอาคารชุด โดยในโครงการศุภาลัย เวอเรนด้า พระราม9นำร่องและมีแผนขยายในอนาคต

 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)ดำเนิน “โครงการ Construction Waste Reducing Project” แนวคิดการลดของเสีย ตั้งแต่กระบวนการออกแบบสำหรับโครงการXT-Ekkamaiด้วยการใช้สินค้าระบบผนังสำเร็จรูป และปิดผิวยิปซัมตราช้าง ด้วยระบบผนังEasy FinishจากUSG Boralแทนการทำงานด้วยระบบก่อฉาบอิฐแบบเดิม ซึ่งสามารถลดวัสดุเหลือทิ้งจากการติดตั้งได้เกือบ100%เริ่มดำเนินการ ก.ค.2562 ก่อนจะขยายสู่โครงการอื่นๆ

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ลงนามMOUกับเอสซีจี , ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)ร่วมกันวิจัยและพัฒนาการสร้างมูลค่าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในงานก่อสร้าง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” นำวัสดุที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้าง กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือGC กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เป็นผู้ประกาศพันธกิจเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดำเนินธุรกิจจากมีกลุ่มลูกค้าเป็นภาคธุรกิจ (B2B)จึงต้องเชื่อมต่อกับชีวิตประวันของคนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภค วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนจึงต้องครอบคลุมตั้งแต่ 1.การพัฒนาธุรกิจโดยการร่วมทุนขยายการผลิตให้มีประสิทธิภาพในพลาสติกชนิดพิเศษ 2.แสวงหาธุรกิจใหม่ให้เติบโต และ3.การหมุนเวียนวัตถุดิบมาใช้ ผ่านโครงการพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น