กทท.เดินหน้าแหลมฉบัง 3 เตรียมนัดเจรจา 'จีพีซี'

กทท.เดินหน้าแหลมฉบัง 3 เตรียมนัดเจรจา 'จีพีซี'

การท่าเรือฯ เดินหน้าประมูลแหลมฉบัง 3 หลังศาลปกครองกลางยกคำสั่งทุเลา เร่งพิจารณาข้อเสนอด้านการเงิน “จีพีซี” ก่อนนัดเจรจา

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนท่าเรือ F วานนี้ (9 ม.ค.) โดยระบุว่าที่ประชุมได้รับทราบถึงคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่มีการยกคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง กรณีเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่พิจารณาให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ส่งผลให้ขณะนี้สามารถเดินหน้าขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้เรื่องเดินหน้า ยังไงเราก็ต้องเดินหน้าอยู่แล้ว เพราะศาลยกเลิกทุเลาไปแล้ว แต่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมประมูล ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาได้ เพราะก่อนหน้านี้ขั้นตอนค้างไว้ที่การพิจารณารายละเอียดด้านเทคนิค ของซองการเงิน ทำให้วันนี้คณะกรรมการฯ ได้สั่งการให้ที่ปรึกษาการเงิน ไปเร่งสรุปแนวทางเจรจา ทำสิ่งที่ค้างอยู่ในส่วนของการประเมินกลุ่ม GPC

สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ จะต้องรอให้ที่ปรึกษาด้านการเงินสรุปรายละเอียดการประเมิน พร้อมนำกลับมารายงานที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในครั้งต่อไปก่อน หากสามารถพิจารณาในรายละเอียดแล้วเสร็จ จึงจะกำหนดวันในการเชิญกลุ่ม GPC เข้ามาเจรจาข้อเสนอ โดยการดำเนินการในส่วนนี้ ถือเป็นการทำงานควบคู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

157856971346

ทั้งนี้ การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่าการร่วมลงทุน 84,000 ล้านบาท มีผู้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา 2 กลุ่ม คือ 1.กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited

2.กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited

โดยกลุ่มเอ็นซีพี ถูกตัดสิทธิเป็นผู้ประมูล เนื่องจากลงนามในเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน ในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ และไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ (RFP) ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ