คุณภาพอากาศในเขตเมือง 92% ไม่ได้มาตรฐาน

 คุณภาพอากาศในเขตเมือง 92% ไม่ได้มาตรฐาน

ศิริราช จับมือ สสส. รุกเข้าถึงชุมชนเพิ่มคุณภาพชีวิต พบประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง 92% คือ คุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง “บางกอกน้อยโมเดล: ศิริราชประสบความสำเร็จ รุกเข้าถึงชุมชนเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวบางกอกน้อย” ว่า การดำเนินโครงการบางกอกน้อยโมเดล เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อมูลสุขภาพผ่านแอพพลิเคชันและเว็บไซต์ ที่ช่วยเพิ่มความสบายใจในการตอบคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากขึ้น แต่บางส่วนมีอาสาสมัครเข้าไปเก็บข้อมูลโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลที่มีขณะนี้จำนวน 28,000 ข้อมูล ถือเป็นจำนวนข้อมูลสุขภาพที่มากที่สุดเท่าที่เคยมี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ และครบถ้วนครอบคลุมทั้ง 5 มิติ

157855891389

รศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โครงการบางกอกน้อยโมเดล เป็นการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันทางการแพทย์กับประชาชนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเกิดการประสานงานกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเพื่อผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างเข้มแข็งของชุมชนในการดูแลสุขภาพของตนเองและช่วยกันดูแลสุขภาพกันเอง รวมถึงข้อมูลสุขภาพที่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพื้นที่ที่อยู่ในรูปแบบเดียวกันสามารถนำไปใช้ สร้างโครงการเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุดต่อไป

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ของเมืองมีแนวโน้มสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา อาชญากรรม การขนส่งและที่อยู่อาศัย ในศตวรรษที่ 21 ประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมืองถึง 3 ใน 4 ในปี พ.ศ. 2573 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเมืองจึงเป็นสัดส่วนการเติบโตของประชากรโลกอาจกล่าวได้ว่าสิ่งแวดล้อมของเมืองมีอิทธิพลต่อสุขภาพและวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน ในยุคของความทันสมัย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพของความเป็นเมืองจะเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดภาวะคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง 92% คือ คุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่งผลให้ตายก่อนวัยอันควรปีละ 3 ล้านคน การเติบโตของเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

รศ.จิราพร กล่าวว่า โครงการบางกอกน้อยโมเดล เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการสานพลังระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ร่วมกันสร้างระบบสุขภาพของชุมชนบางกอกน้อยที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาพประชาชนได้ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการระบบสุขภาพเชิงรุกโดยการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรของโรงพยาบาลศิริราชและชุมชนบางกอกน้อย ปัจจัยความสำเร็จของบางกอกน้อยโมเดล คือ “ระบบฐานข้อมูล” เป็นเครื่องมือที่แสดงข้อมูลสุขภาพประชาชนกับปัจจัยกำหนดสุขภาพและรูปแบบกิจกรรมประเภทต่างๆ ในการดำรงชีวิตของชุมชนเขตบางกอกน้อย สามารถนำข้อมูลไปประมวล สังเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนานโยบายต่อไป