'สมคิด' สั่ง กฟผ.ช่วยดูแลค่าไฟให้ผู้มีรายได้น้อย-เอสเอ็มอี

'สมคิด' สั่ง กฟผ.ช่วยดูแลค่าไฟให้ผู้มีรายได้น้อย-เอสเอ็มอี

"สมคิด" มอบการบ้าน กฟผ. ดูแลค่าไฟฟ้า ช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อย จับมือ ธ.ก.ส.-ชุมชน ช่วยสร้างโรงไฟฟ้า ขยายการลงทุนสู่ “ซีแอลเอ็มวี” พร้อมเร่งแผนลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจปี63

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)พร้อมมอบนโยบายแก่ กฟผ.วันนี้(8ม.ค.) ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้มาตรวจเยี่ยม สำนักงาน กฟผ. ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินงานจนมีผลประกอบการเป็นที่นาประทับใจ เป็นองค์กรผลิตไฟฟ้าที่เข้มแข็ง และผู้บริหารก็ได้มีโอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์แผนการทำงานในอนาคตที่จะก้าวออกไปนอกเหนือธุรกิจดั้งเดิม ในคำจำกัดความกลุ่มธุรกิจของกฟผ. ก้าวข้ามการผลิตไฟฟ้าแบบธรรมดา สู่การเน้นเรื่องพลังงานในอนาคต นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้กฟผ.มีช่องทางที่จะทำธุรกิจที่มากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของไฟฟ้า กฟผ. จะยังต้องเป็นหลักที่มั่นคงให้กับประเทศ ซึ่งจากผลประกอบเห็นชัดว่ามีความมั่นคงสูงมาก แต่จากเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านนั้น จะมีผลกระทบต่อพลังงาน และค่าไฟฟ้าหรือไม่ ก็ขอให้ภาคประชาชนอุ่นใจได้ว่าจะมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ฉะนั้น ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าจะมีน้อยมาก เพราะทางกระทรวงพลังงานดูแลอยู่

ขณะเดียวกันได้ขอให้ กฟผ. ช่วยยืนอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อดูแลผลกระทบให้กับภาคประชาชนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ค่อยดี ซึ่งดูจากผลประกอบการแล้วเชื่อมั่นว่า กฟผ.สามารถดำเนินการได้ โดยในกลุ่มคนที่ยากไร้ได้ขอให้ กฟผ.หาแนวทางช่วยเหลือซึ่งจะมาหารือร่วมกันอีกครั้ง

รวมถึง ได้หารือกับ กฟผ.ถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคต โดยให้ กฟผ.หันขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่ง กฟผ.ในยุคนี้แข็งแรงมากไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในประเทศไทย เพราะด้วยธุรกิจไฟฟ้าของ กฟผ. สามารถนำไปสู่ประยุกต์ ใช้กับเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้ไม่เพียงแค่นำไปใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรม ยังนำไปสู่ภาคการบริโภคได้ด้วย เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจและมีวิศกรจำนวนมาก ในอนาคตไม่เพียงแค่ 4 ประเทศใน CLMV เท่านั้น ยังจะสามารถขยายการลงทุนออกไปแข่งขันได้กับทุกประเทศ เช่น  แข่งขันกับผู้ประกอบการจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศสูง เพราะเป็นประเทศเล็ก ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ประชาชนต้องการสินค้ามากขึ้น และทำให้ต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น นับเป็นโอกาสทองของ กฟผ. ฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะต้องปรับให้สอดข้องกับโอกาส เพื่อรุกเข้าสู่ตลาดเหล่านี้ได้อย่างมีพลัง

นอกจากนี้ เรื่องของพลังงานชุมชน กฟผ.เข้าร่วมอย่างแน่นอน เพราะเป็นอีกภารกิจสำคัญที่จะต้องเข้าไปช่วยดูแลความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน โดยจะร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ในแต่ละพื้นที่ ช่วยเหลือชาวบ้านทำธุรกิจกับชุมชน ซึ่ง กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนและรับซื้อไฟฟ้าที่จะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ตามมา ทั้งการยกระดับรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ปีนี้ ได้สั่งการให้ กฟผ.เร่งรัดการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งกฟผ.ก็มีแผนจะลงทุนจะลงทุนในหลายเรื่องรวมถึงการนำเข้าด้วย ดังนั้นการลงทุนที่เกี่ยวกับธุรกิจชุมชน และโครงสร้างต่างๆ สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอ เพราะขณะนี้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ ซึ่งผ่านมา 4 เดือนแล้ว งบประมาณด้านการลงทุนยังไม่ลงสู่พื้นที่ ฉะนั้น กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็งจะต้องช่วยขับเคลื่อน ไม่เพียงแค่ กฟผ.เท่านั้น แต่รัฐวิสาหกิจทุกแห่งด้วยต้องช่วยระดมทุนให้มากที่สุดในขณะนี้ เพราะเป็นช่วงที่จะเผชิญปัญหาภัยแล้ง และไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถดำเนินการเพาะปลูกได้