สหรัฐอ้าง 'ป้องกันตัว' ปลิดชีพนายพลอิหร่าน ชอบธรรมหรือไม่?

สหรัฐอ้าง 'ป้องกันตัว' ปลิดชีพนายพลอิหร่าน ชอบธรรมหรือไม่?

ความขัดแย้งทางทหารรอบใหม่ สหรัฐ-อิหร่าน ทำให้ทั้งสองฝ่ายยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยืนยันการใช้อำนาจมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น เพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีของอีกฝ่าย แล้วการที่สหรัฐเปิดฉากด้วยการสังหารนายพลอิหร่านก่อน เข้าข่ายมาตรานี้หรือไม่?

เมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) เคลลีย์ คราฟต์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยื่นหนังสือต่อ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพสหรัฐที่สนามบินนานาชาติแบกแดดของอิรักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้นายพลกาเซ็ม โซไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษ “คุดส์” ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เสียชีวิตนั้น “เป็นการป้องกันตนเอง” ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น

นอกจากนี้ รัฐบาลวอชิงตันพร้อมเจรจาอย่างจริงจัง โดยไม่กำหนดเงื่อนไขล่วงหน้ากับอิหร่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือลดการเกิดภัยอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีรัฐบาลเตหะรานเป็นต้นเหตุ 

คราฟต์ ระบุว่า สหรัฐพร้อมดำเนินการตามความจำเป็น เพื่อปกป้องชีวิตของพลเมืองอเมริกันและผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง

ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยใช้มาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็นมาแล้ว เพื่ออ้างความชอบธรรมในปฏิบัติการทางทหารในซีเรียเพื่อจัดการกับกองกำลังกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เมื่อปี 2557

ด้านรัฐบาลเตหะรานอ้างมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็นเช่นกัน โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปฏิบัติการทางทหารไออาร์จีซีที่เป็นการระดมยิงจรวดโจมตีฐานทัพ 2 แห่งในอิรักที่มีทหารสหรัฐประจำการเมื่อวันพุธ อาศัยอำนาจตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น “เพื่อป้องกันตัวเอง” จากการโจมตีของสหรัฐหลังสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่าน

มาจิด ทักห์ต์ ราวานชี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำยูเอ็น กล่าวว่า อิหร่านไม่ประสงค์ที่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นหรือเปิดสงคราม หลังจากใช้สิทธิในการป้องกันตนเองด้วยการใช้การตอบโต้ทางทหารที่ไตร่ตรองแล้วและไม่เกินกว่าเหตุ โดยพุ่งเป้าโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐในอิรัก

“ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปอย่างแม่นยำและมีเป้าหมายทางทหาร โดยไม่เกิดความเสียหายทางอ้อมต่อพลเรือนและทรัพย์ของพลเรือนในพื้นที่นั้น” ราวานชีอธิบาย พร้อมยืนยันว่า อิหร่านให้ความเคารพอธิปไตยของอิรักและไม่มีเจตนาที่จะละเมิด

  • ทำไมสหรัฐและอิหร่านรีบแจ้งเรื่องนี้ต่อยูเอ็น?

มาตรา 51 ของยูเอ็น ปรากฏอยู่ในกฎบัตรฉบับที่ 6 มีใจความสำคัญว่าด้วย “สิทธิอันชอบธรรม” ของรัฐสมาชิก ในการใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อป้องกันตนเองเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธ จนกว่ายูเอ็นเอสซีจะประกาศมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยุติสถานการณ์

และเมื่อสมาชิกยูเอ็นประเทศใดก็ตามที่อาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าว ต้องรายงานให้ยูเอ็นเอสซีทราบโดยทันที และไม่ขัดขวางหรือแทรกแซงกระบวนการของยูเอ็นเอสซีในการตอบสนอง

สำหรับเนื้อหาเต็มของมาตรา 51 ระบุว่า

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังหรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้จะต้องรายงานให้ยูเอ็นเอสซีทราบโดยทันที และจะต้องไม่กระทบกระเทือนอำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็นไม่ว่าในเวลาใด เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ

  • สหรัฐมีสิทธิอ้างมาตรา 51 สังหารโซไลมานี?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางรายตั้งคำถามว่า ทรัมป์มีอำนาจตามกฎหมายในการปลิดชีพนายพลโซไลมานีบนแผ่นดินของอิรักโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากรัฐบาลแบกแดดหรือไม่ และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของสหรัฐหรือไม่

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอิรักกล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันละเมิดข้อตกลงในการประจำการกองกำลังสหรัฐในอิรัก และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ของอิรักเรียกร้องให้ขับไล่กองทัพสหรัฐออกจากประเทศ

แม้กฎบัตรยูเอ็นห้ามไม่ให้สมาชิกใช้กำลังทหารต่อรัฐอื่น แต่ก็มีข้อยกเว้นกรณีที่ได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของอธิปไตยนั้น ๆ ให้ใช้กำลังทหารบนแผ่นดินของตนได้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า การปราศจากความยินยอมของรัฐบาลอิรัก ทำให้สหรัฐอ้างความชอบธรรมในการสังหารนายพลอิหร่านได้ยาก

อูนา แฮธาเวย์ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เผยผ่านทวิตเตอร์ว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะ “ไม่มีเหตุสนับสนุน” คำกล่าวอ้างที่ว่าการโจมตีนายพลอิหร่านเป็นการป้องกันตัวเอง และสรุปได้ว่าแทบจะไม่มีส่วนที่ถูกต้องทั้งตามกฎหมายในประเทศและต่างประเทศเลย

ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (เพนตากอน) อ้างว่า การสังหารนายพลโซไลมานีมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งแผนโจมตีของอิหร่านในอนาคต ขณะที่ทรัมป์บอกว่า นายพลอิหร่านรายนี้ถูกปลิดชีพเพราะมีแผนจะโจมตีเจ้าหน้าที่ทูตและทหารของสหรัฐอย่างรุนแรงในเร็ว ๆ นี้

โรเบิร์ต เชสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทกซัสในเมืองออสติน กล่าวว่า ข้อโต้แย้งที่ดีที่สุดของรัฐบาลในการใช้กฎบัตรยูเอ็นคือการอ้างป้องกันตัวเอง

“หากคุณยอมรับว่าชายคนนี้ (นายพลโซไลมานี) มีแผนปฏิบัติการสังหารชาวอเมริกัน นั่นก็ถือเป็นสิทธิในการตอบสนองแล้ว”

ขณะที่ สกอตต์ แอนเดอร์สัน อดีตที่ปรึกษากฎหมายประจำสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดดในยุคของรัฐบาลบารัก โอบามา ระบุว่า การอ้างความชอบธรรมของทรัมป์ (ในการสังหารนายพลอิหร่าน) ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน ยังเป็นสิ่งที่น่ากังขา แต่ประธานาธิบดีอาจพยายามโต้แย้งว่ารัฐบาลอิรักคงไม่เต็มใจหรือไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามจากนายพลโซไลมานีได้ จึงทำให้สหรัฐมีสิทธิในการปฏิบัติการโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากอิรัก

  • อ้างป้องกันตัวเองไม่ได้

แอกเนส คัลลามาร์ด ผู้แทนพิเศษแห่งยูเอ็น ด้านการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามว่า การโจมตีนายพลอิหร่านเข้าข่ายมาตรา 51 หรือไม่

“การพุ่งเป้าสังหารนายพลโซไลมานีดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้การกระทำในอดีตมากกว่าการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” คัลลามาร์ดระบุ “การอ้างข้อกฎหมายสำหรับการสังหารลักษณะนี้ เป็นเรื่องยากที่จะตีความ”

แมรี เอลเลน โอคอนเนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสงคราม มหาวิทยาลัยนอเทรอดามในรัฐอินดีแอนาของสหรัฐ กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐไม่เคยประกาศทำสงครามกับอิหร่านอย่างเป็นทางการ การปลิดชีพนายพลระดับสูงของอิหร่านจึงถือเป็น “การลอบสังหารอย่างชัดเจน”

โอคอนเนลล์ เสริมว่า การฆ่านายพลอิหร่านไม่อาจถูกตีความว่าเป็นการป้องกันตัวเอง เพราะไม่เคยมีการโจมตีสหรัฐอย่างรุนแรงและโดยตรงจากฝ่ายอิหร่าน