แนวโน้ม 'ความมั่นคงโลก' ในรอบ 4 เดือนข้างหน้า

แนวโน้ม 'ความมั่นคงโลก' ในรอบ 4 เดือนข้างหน้า

อีก 4 เดือนข้างหน้า สถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไร เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ยังขุ่นมัวและยังไม่ได้แก้ไข ขณะที่เริ่มต้นปี 2563 ความขัดแย้งระลอกใหม่ก็มาเพิ่มอีกด้วย

จากสถานการณ์โลกในรอบปี 2562 ที่ยังคงปรากฏความขัดแย้งเดิมที่ยังแก้ไขไม่ได้ อีกทั้งยังเพิ่มความขัดแย้งใหม่อีกจำนวนหนึ่ง

ทำให้มีแนวโน้มว่าความมั่นคงของโลกในช่วงต้นปี 2563 น่าจะยังอยู่ในสภาวะไม่น่าไว้วางใจ และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์ปี 2562 นั้น ในยุโรป ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติยุโรปตะวันตกและองค์การนาโตมีสูง การที่รัสเซียขยายความร่วมมือด้านการทหารกับจีน ทำให้สหรัฐและยุโรปวิตกมากยิ่งขึ้น ความไม่ชัดเจนของอังกฤษในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มีส่วนทำให้เศรษฐกิจยุโรปถดถอยและทำให้กระแสการแยกตัวออกจากประเทศแม่ของแคว้นต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งสกอตแลนด์รุนแรง ปัญหาผู้อพยพที่เข้ามาแย่งงานและสวัสดิการสังคมกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนยุโรป ทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส

สถานการณ์ตะวันออกกลางปี 2562 มีความซับซ้อน ประเทศหลักของภูมิภาค คือ ตุรกี อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีสหรัฐกับรัสเซียเกี่ยวข้องอย่างมาก สงครามกลางเมืองซีเรียยังไม่สิ้นสุด ความบาดหมางระหว่างตุรกีกับนาโตบานปลาย เหตุวินาศกรรมหลายครั้งทั้งในอ่าวเปอร์เซียและซาอุดิอาระเบีย ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองเรือสหรัฐกับอิหร่าน สงครามกลางเมืองในเยเมนยังคงรุนแรง ขณะที่ความไม่สงบในอียิปต์ อิรัก และอิสราเอล ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในเอเชีย การขยายอิทธิพลของจีนนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นตลอดปีและการผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ เช่น การนำเรือรบรุกเข้าน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ ทำให้เอเชียมีความตึงเครียดสูง การจลาจลเพื่อต่อต้านอำนาจของจีนในฮ่องกงเป็นบททดสอบการแก้ไขปัญหาวิกฤติภายในของจีน อินเดียเกือบทำสงครามกับปากีสถาน เมื่ออินเดียโจมตีข้ามพรมแดนต่อกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมเมื่อต้นปี 2562

สำหรับสถานการณ์นิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีที่มีแนวโน้มดีเมื่อช่วงต้นปีนั้น กลับไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือได้ ทำให้สถานการณ์ยังคงไม่แน่นอนต่อไป ประเทศในอาเซียนต่างทวีความวิตกต่อนักรบเคร่งศาสนาที่ไปทำสงครามในตะวันออกกลาง แล้วกลับมาเกิดเหตุก่อการร้ายหลายครั้งในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนการขยายตัวของสถานการณ์สู้รบในรัฐยะไข่และความขัดแย้งทางการเมืองในกัมพูชาเปิดช่องให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง

มีปัจจัยหลายประการที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความมั่นคงในห้วง เดือนแรกของปี 2563 ในทุกภูมิภาคจะไม่สดใส ในยุโรป ชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษเมื่อ 12 ธ.ค.2562 บ่งชี้ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปตามกำหนดใน 31 ม.ค.2563 อย่างแน่นอน การถอนตัวของสหรัฐออกจากสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับรัสเซียเมื่อ ส.ค.2562 น่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธในยุโรปมากยิ่งขึ้น การซื้อระบบขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซียของตุรกี เมื่อ พ.ย.2562 น่าจะสร้างความแตกแยกในองค์การนาโตมากยิ่งขึ้น

ส่วนปัญหาความไม่พอใจทางเศรษฐกิจและสังคมถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากต่อคณะบริหารของสหภาพยุโรป (European Commission) ชุดใหม่ที่จะเข้าทำหน้าที่ต้นปี 2563

ในตะวันออกกลางอาจเกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ปะทุขึ้น เช่น กรณีอิสราเอล หลังจากที่สหรัฐสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลที่อนุญาตให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขต West Bank ได้ตั้งแต่ พ.ย.2562 ในเอเชีย การปกครองของจีนตามระบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นทั้งการเลือกตั้งไต้หวันใน ม.ค.2563 และปัญหาฮ่องกง ที่จะเรื้อรังต่อไป

การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือบ่อยครั้งเมื่อปลายปี 2562 ทำให้เกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ประธานาธิบดี Kim Jong-un ต้องการให้สหรัฐกลับมาเจรจาโดยตรงกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี Donald Trump แม้ว่าจะผ่านสภาคองเกรสตั้งแต่ 17 ธ.ค.2562 แต่ไม่น่าที่จะผ่านสภาสูงในต้นปี 2563 เพราะพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาสูง

ประเด็นที่น่าจะกระทบต่อไทยมากที่สุด คือการตอบโต้ทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันเมื่อ 12 ธ.ค.2562 ทำให้สงครามการค้ายุติลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สหรัฐกับจีนยังคงไม่ลงรอยกันในอีกหลากหลายประเด็น ประเด็นที่สหรัฐน่าจะผลักดันต่อต้านจีนมากที่สุดในช่วงเวลาต่อไปคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง นอกจากนี้ การที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 ก็อาจมีวาระอาเซียนที่อาจมีปัญหากับจีน เช่น ทะเลจีนใต้ อีกด้วย