'ธ.ก.ส.' จ่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อภัยแล้ง

'ธ.ก.ส.' จ่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อภัยแล้ง

"ธ.ก.ส." เตรียมอัดวงเงินสินเชื่อช่วยเกษตรรับมือภัยแล้งเพิ่ม จากปัจจุบันมีวงเงินอยู่ 5.5 หมื่นล้าน สั่งสาขาในพื้นที่สำรวจความเสียหายในภาคอีสาน-เหนือตอนล่าง พร้อมแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ เบื้องต้นได้สั่งการให้สาขาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้เข้าสำรวจว่า มีเกษตรกรรายใดได้รับผลกระทบ และเยียวยาความช่วยเหลือโดยนำน้ำไปแจกจ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค

"มีการพยากรณ์ว่า ปีนี้ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลรุนแรงและเร็วกว่าทุกปี ทาง ธ.ก.ส.จึงต้องเตรียมพร้อมความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการบรรเทาความเดือนร้อน ผ่านการแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคในทุกพื้นที่ และเตรียมพร้อมเม็ดเงินสินเชื่อในรายที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินและเพื่อฟื้นฟูการผลิตใหม่"

ทั้งนี้ ธนาคารมีวงเงินสำหรับความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งรวม 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินความช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 5 พันล้านบาท และอีก 5 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูการผลิตใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีเกษตรกรมาขอรับความช่วยเหลือในวงเงินดังกล่าวแล้ว ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ขณะนี้จึงมีวงเงินเหลือสำหรับความช่วยเหลือภัยแล้งรอบนี้ประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าจะเพียงพอ หากไม่เพียงพอก็พร้อมเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ

สำหรับการสำรวจเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อดูว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ใดที่ยังไม่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้เงินต้น หากพบจะขยายระยะเวลาชำระเงินต้นให้ และหากต้องการเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูการผลิตใหม่ ก็จะสนับสนุนให้ แต่หากเกษตรกรรายใดที่เข้าโครงการพักชำระหนี้แล้ว ถือว่ายังอยู่ในโครงการ ซึ่งจะหมดระยะเวลาการพักชำระหนี้เงินต้น จนถึงปีบัญชี 2564

ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง คือ ภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง โดยในภาคอีสานนั้น ธ.ก.ส.มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 1 ล้านราย ส่วนภาคเหนือตอนล่างมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 3 แสนราย คาดว่าจะสำรวจความเดือนร้อนได้แล้วเสร็จทุกพื้นที่ภายในเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นเกษตรกรรายใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อมายังสาขาของธนาคารในพื้นที่ได

เขายังกล่าวถึงสถานการณ์การชำระหนี้ของเกษตรกรว่า ขณะนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ หรือราว 90% เข้าโครงการพักชำระหนี้เงินต้นมาตั้งแต่ปีบัญชี 2561 โดยชำระ เพียงดอกเบี้ย ทำให้สถานการณ์ชำระหนี้ยังคงทรงตัว และมีการชำระหนี้ดอกเบี้ยตามกำหนด ปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสียทรงตัวที่ 4.55%