ผวาสงครามปะทุ ดัน 'บิทคอยน์' พุ่งแรง

ผวาสงครามปะทุ ดัน 'บิทคอยน์' พุ่งแรง

บิทคอยน์ ตลาดโลกพุ่งแรงกว่า 5% ทะลุระดับ 8,300 ดอลลาร์ กูรูเงินดิจิทัลชี้ อานิสงส์จากความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน เตือนนักลงทุนไม่ควรนำเงินทั้งหมดมุ่งเก็งกำไรระยะสั้น เผยราคาในตลาดแลกเปลี่ยนที่อิหร่านพุ่งแตะ 2.4 หมื่นดอลลาร์ เหตุนักลงทุนกังวลเกิดสงคราม

นายปรมินทร์ อินโสม ซีอีโอ สตางค์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า หลังจากอิหร่านเปิดฉากยิงถล่มฐานทัพสหรัฐ ส่งผลให้ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นมาราว 5% ทะลุ 8,300 ดอลลาร์ ในวานนี้ (8 ม.ค.) และเป็นครั้งแรกในปี 2563 และทำจุดสูงสุดในรอบปีนี้ จากนักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้กระจายความเสี่ยงส่วนหนึ่งมาที่ตลาดเงินดิจิทัล เช่นเดียวกับกระจายไปลงทุนยังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบช่วงระยะสั้นต่อตลาดเท่านั้น และยังคงมุมมองราคาเงินดิจิทัล บิทคอยน์ จะกลับมาแต่ไม่หวือหวา คาดว่าแตะระดับ 9,000-10,000 ดอลลาร์ ได้ในครึ่งแรกของปี 2563

"ราคาบิทคอยน์คงไม่สามารถขยับขึ้นไปได้มากกว่านี้ ยกเว้นปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนได้ แต่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นได้เท่านั้น เพราะยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานในระยะข้างหน้า"

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งเว็บซื้อขายเงินดิจิทัล Bitkub.com กล่าวว่า หลังจากอิหร่านเปิดฉากยิงถล่มฐานทัพสหรัฐ ส่งผลให้ราคาบิทคอยน์ในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนในอิหร่านราคาปรับพุ่งขึ้นทันที โดยทำจุดสูงสุดที่ 24,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิทคอยน์ หรือประมาณ 700,000-800,000 บาทต่อ 1 บิทคอยน์ นับเป็นราคาที่สูงสุดในประวัติการณ์ตั้งแต่มีบิทคอยน์ และยังสูงกว่าในช่วง ต้นปี 2561 ภาพรวมตลาดบิทคอยน์ทั่วโลก ทำสถิติราคาพุ่งสูงสุดที่ 20,000 ดอลลาร์

สาเหตุการเพิ่มขึ้นของบิทคอยน์ในตลาดแลกเปลี่ยนที่อิหร่าน เนื่องจากประชาชนกังวลกับเหตุความไม่สงบ ทำให้นักลงทุนเริ่มโยกสินทรัพย์การลงทุนไปสู่เงินดิจิทัลมากขึ้น เพราะสามารถย้ายข้ามประเทศได้ ดังนั้นในกรณีที่ประเทศเกิดปัญหา ก็ยังสามารถมีสินทรัพย์มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศอื่นได้

"ทุกวันนี้นักลงทุนเริ่มมองว่า บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำและน้ำมัน เมื่อเกิดวิกฤติ จะเห็นราคาปรับตัวพุ่งขึ้น บิทคอยน์ ก็เช่นกันราคาเริ่มปรับตัวขึ้นแรงในช่วง 4 วันที่ผ่านมาหลังมีข่าวปัญหาอิหร่านและสหรัฐ"