สิงคโปร์รับ 21 ใบสมัครขอทำ 'ดิจิทัล แบงกิ้ง'

สิงคโปร์รับ 21 ใบสมัครขอทำ 'ดิจิทัล แบงกิ้ง'

สิงคโปร์รับ 21 ใบสมัครขอทำ "ดิจิทัล แบงกิ้ง" โดยเดือนมิ.ย. จะประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตและบริษัทที่ได้รับอนุญาตจะเริ่มทำธุรกิจได้กลางปี 2564

สำนักงานการเงินสิงคโปร์ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (7ม.ค.) ว่า ขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมธนาคารทางออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมถึงบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคม พากันยื่นใบสมัครมาที่สำนักงานเพื่อขออนุญาตทำธุรกิจแล้วจำนวน 21 รายด้วยกัน ซึ่งสำนักงานจะประกาศผลการตัดสินว่าจะให้ใบอนุญาตแก่บริษัทใดบ้างในเดือนมิ.ย. และบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจะเริ่มทำธุรกิจได้ประมาณกลางปี 2564

บริษัทที่ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตดำเนินธุรกิจด้านการเงินดิจิทัลในสิงคโปร์รวมถึงบริษัทแกร็บ บริษัทสิงเทล บริษัทเรเซอร์ และบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งชื่อของแอนท์ ไฟแนนเชียล เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ในฐานะบริษัทในเครืออาลีบาบา ผู้ให้บริการระบบชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งรับจากนี้ไปไปชื่อของแอนท์ ไฟแนนเชียลจะขยายวงเข้าไปยังสิงคโปร์ภายใต้บทบาทใหม่

157852843563

มีการประเมินกันว่าตัวเลขตลาดสินเชื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าสูงถึง 111,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 แถมยังมีฐานข้อมูลจากผู้ใช้งานจำนวนมากที่ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ ส่วนแอนท์ ไฟแนนเชียล และอาลีเพย์

ขณะนี้มีชาวจีนใช้งานเป็นประจำกว่า 900 ล้านคนต่อปี และยังมีผู้ใช้ในประเทศต่าง ๆ อีกประมาณ 1,200 ล้านคนทั่วโลก เพราะฉะนั้น การกระโดดเข้ามาสู่ดิจิทัล แบงกิ้งของแอนท์ ไฟแนนเชียลในตลาดสิงคโปร์ จึงไม่ธรรมดา

เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว สำนักงานการเงินของสิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนธนาคารกลาง บอกว่า การออกใบอนุญาตดำเนินการธนาคารเสมือนจริง จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีอุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์ โดยจะออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบมากถึง 2 ใบ ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารรับฝากเงินจากลูกค้ารายย่อยได้ แถมยังมีแผนที่จะออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลธุรกิจรายใหญ่มากถึง 3 ใบสำหรับบริษัทที่ให้บริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเซกเมนท์ที่ไม่ใช่ค้าปลีกอื่น ๆ

157852838796

ผู้ขอใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ครอบคลุมถึงการแสดงให้เห็นว่า สามารถจัดการธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่ยั่งยืนและมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรืออีคอมเมิร์ซมาแล้ว

สำนักงานการเงินของสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบจะต้องยึดมั่นตลาดสิงคโปร์เป็นหลัก บริหารโดยชาวสิงคโปร์ และตั้งสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ ขณะที่ธนาคารดิจิทัลธุรกิจรายใหญ่สามารถบริหารโดยชาวสิงคโปร์หรือบริษัทต่างชาติได้

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์ผูกขาดโดยธนาคารท้องถิ่นรายใหญ่ 3 แห่งคือ ดีบีเอส กรุ๊ป โอซีบีซี และยูโอบี และยังมีธนาคารต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เป็นผู้เล่นรายสำคัญ แต่การถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยีในสิงคโปร์ ทำให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) หลายประเภท ซึ่งให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงการชำระเงินดิจิทัล การโอนเงินออนไลน์ และบริการโอนเงินข้ามประเทศ

การตัดสินใจออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลของสำนักงานการเงินสิงคโปร์ มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางฮ่องกงออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเสมือนจริงไปแล้ว 8 ใบในปีนี้ ซึ่งธุรกิจธนาคารในฮ่องกงถือเป็นอุตสาหกรรมธนาคารที่ผูกขาดโดยธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างเอชเอสบีซี สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และธนาคารจีนอีกหลายแห่ง

ความเคลื่อนไหวของทางการสิงคโปร์และฮ่องกง เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ทำให้คนจำนวนมากขึ้นในเอเชียหันมาใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ หรือดิจิทัล แบงกิ้ง ล่าสุด ฟอร์เรสเตอร์ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ผู้ใช้จำนวนมากทั่วภูมิภาคเชื่อว่าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทให้สำเร็จได้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ

“การหันมาใช้ดิจิทัล แบงกิ้งในเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มเติบโตเร็วขึ้นและแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ก่อนหน้านี้ ผู้บุกเบิกอย่าง วีแบงก์ และ กาเกา ก็ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น” รายงานวิจัยของฟอร์เรสเตอร์ ระบุ

ทั้งนี้ บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ต้องเผชิญกับการตรวจสอบตามมาตรฐานอันเข้มงวดของธนาคารกลางสิงคโปร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

สำนักงานการเงินของสิงคโปร์ ระบุว่า ใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ ขยายไปถึงผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคาร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันและสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลง

รายงาน “ฟินเทค อิน อาเซียน : ฟรอม สตาร์ท-อัพ ทู สเกล-อัพ” ที่เผยแพร่โดยธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ หรือธนาคารยูโอบี, ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส และสมาคมฟินเทคสิงคโปร์ (เอสเอฟเอ) ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในสิงคโปร์ ยังคงดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลกมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 51% และสิงคโปร์ ยังเป็นฐานที่มั่นอันดับหนึ่งในภูมิภาคสำหรับบรรดาบริษัทฟินเทค โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทฟินเทค 45% จากทั้งหมดในอาเซียน

157852840415

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมนวัตกรรมฟินเทคในภาคส่วนต่าง ๆ เงินทุนสำหรับบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ จึงมีการกระจายอย่างทั่วถึง โดยมีนวัตกรรมการประกันภัย การชำระเงิน และการเงินส่วนบุคคลเป็นภาคส่วนที่ได้รับเงินทุนมากที่สุด

รายงานยังระบุว่า เงินทุนที่กระจายอย่างทั่วถึงนี้ยังสะท้อนถึงภูมิทัศน์ด้านฟินเทคในสิงคโปร์ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ที่อุตสาหกรรมฟินเทคยังคงเป็นเรื่องใหม่และเน้นไปที่นวัตกรรมการชำระเงินเป็นส่วนใหญ่