กูรูแนะจัดพอร์ตหลบภัย รับมือ ‘สหรัฐ-อิหร่าน’ ป่วนโลก

กูรูแนะจัดพอร์ตหลบภัย รับมือ ‘สหรัฐ-อิหร่าน’ ป่วนโลก

ยังคงเป็นประเด็นที่ร้อนระอุต่อเนื่อง สำหรับความขัดแย้งระหว่าง ‘สหรัฐ’ และ ‘อิหร่าน’ สืบเนื่องจากปฏิบัติการสังหารผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่อิหร่านจะทำการยิงขีปนาวุธเข้าใส่ฐานทัพสหรัฐในอิรักเป็นการตอบโต้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความกังวลไปทั่วโลก โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เหตุการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่ได้ขยายวงกว้าง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องกลับมานั่งพิจารณากลยุทธ์การลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตอนนี้

จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการลงทุน แนวทางในการปรับกลยุทธ์การลงทุนขณะนี้แบ่งออกเป็นสองทางเลือกใหญ่ๆ ซึ่งสามารถนำไปปรับผสมให้เข้ากับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แต่ละคนต้องการได้

“ปัจจุบันส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นและพันธบัตร (Earning Yield Gap) ของไทยปรับตัวขึ้น เป็นตัวบ่งชี้ว่าหุ้นเริ่มมีความน่าสนใจ แม้ประมาณการกำไรของตลาดจะถูกปรับลงจาก 103 บาทต่อหุ้น มาเหลือ 101.4 บาทต่อหุ้น แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาหนักกว่า”

ณัฐชาต เมฆมาสิน

แนวทางแรก คือ ยึดมั่นในหุ้นพื้นฐานดี หาจังหวะเข้าลงทุนเมื่อตลาดปรับฐานลงมา

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า สัดส่วนของพอร์ตลงทุนที่แนะนำไว้ก่อนหน้า คือ หุ้น 30% ตราสารหนี้ 30% ทองคำ 10% กองรีท 10% และเงินสด 20% ยังเป็นสัดส่วนที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นไทยโดยตรง หากตลาดปรับตัวลดลงมาเกินไป นักนักลงทุนอาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนหุ้นเป็น 35% โดยมองระดับที่เหมาะสมบริเวณดัชนี 1,520 จุด อิงจากกำไรตลาด 101.4 บาทต่อหุ้น และค่า P/E 15 เท่า ขณะเดียวกันอาจจะพิจารณาลดสัดส่วนของตราสารหนี้ ซึ่งในขณะนี้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ราคาสูงขึ้นมาก จนผลตอบแทนลดลงมาเหลือเพียง 1.37% จากก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 1.5%

“ปัจจุบันส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นและพันธบัตร (Earning Yield Gap) ของไทยปรับตัวขึ้น เป็นตัวบ่งชี้ว่าหุ้นเริ่มมีความน่าสนใจ แม้ประมาณการกำไรของตลาดจะถูกปรับลงจาก 103 บาทต่อหุ้น มาเหลือ 101.4 บาทต่อหุ้น แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาหนักกว่า”

157855014478

   

ขณะที่ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีโอกาสยืดเยื้อออกไป เพราะเป็นความรุนแรงต่อเนื่อง และจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา อย่างไรก็ตาม มองว่าความเสี่ยงขาลงต่อตลาดหุ้นไทยไม่ได้มากนัก มองแนวรับที่ 1,530 จุด บนสมมติฐานที่ว่าความขัดแย้งไม่ได้ขยายไปมากกว่านี้ แต่หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็มีโอกาสที่หุ้นไทยจะลดลงไปถึง 1,500 จุด หรือต่ำกว่านั้น

"การลงทุนในตอนนี้ต้องจับปัจจัยพื้นฐานให้แน่น เพราะอัพไซด์ของตลาดไม่ได้มาก
ต้องเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว"


เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

กลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ มองว่า การจะเอาชนะตลาดได้ นักลงทุนต้องเลือกลงทุนโดยยึดมั่นเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเท่านั้น เพราะนอกจากตลาดจะถูกกดดันจากความขัดแย้ง แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ดีนัก โดยคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้จะเติบโตเพียง 2.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ GDP โลกที่ 3.4%

“การลงทุนในตอนนี้ต้องจับปัจจัยพื้นฐานให้แน่น เพราะอัพไซด์ของตลาดไม่ได้มาก ต้องเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว สำหรับไตรมาสแรกนี้ มองว่าหุ้นอย่าง BGRIM, PTT, LH, AP, ROBINS และ CPF จะมีผลประกอบการเติบโตดี รวมถึงเลือกหุ้นที่มีเงินปันผลสูงในระดับ 5-6% ส่วนหุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ คือกลุ่มที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุน อย่าง สายการบิน เดินเรือ”

อีกแนวทาง คือ โยกเงินลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย รวมทั้งการถือเงินสดเพิ่มขึ้น

สมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บล.เคจีไอ มองว่าเหตุการณ์น่าจะยืดเยื้อ แต่ความรุนแรงอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือ นักลงทุนจะยังคงกังวลต่อความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันภาวะตลาดโดยรวม

"การจัดพอร์ตลงทุนในช่วงนี้ อาจจะพิจารณาถือเงินสด 50% ของพอร์ตลงทุน
ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเหลือประมาณ 20%
ส่วนอีก 30% อาจจะพิจารณาลงทุนในทองคำและตราสารหนี้"

สมชาย กาญจนเพชรรัตน์

การจัดพอร์ตลงทุนในช่วงนี้ อาจจะพิจารณาถือเงินสด 50% ของพอร์ตลงทุน เพราะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในปัจจุบัน โดยเงินลงทุนส่วนที่เหลือ ควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเหลือประมาณ 20% โดยเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างกลุ่มพลังงาน ส่วนอีก 30% อาจจะพิจารณาลงทุนในทองคำและตราสารหนี้ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะเช่นนี้”