'พลังงาน' ไฟเขียว กฟผ.เร่งสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์

'พลังงาน' ไฟเขียว กฟผ.เร่งสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์

“กุลิศ” เผยแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงใหม่ เปิดทาง กฟผ.เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เกมะวัตต์ เร็วขึ้น 2 ปี เสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ด้าน กฟผ. จ่อชงครม.อนุมัติลงทุนสายส่งเชื่อมโยงไฟฟ้า กัมพูชาและเมียนมา

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) เปิดเผยว่า การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 เบื้องต้น มีความชัดเจนว่าในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะดำเนินการโดย กฟผ. นั้น จะเร่งกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เร็วขึ้น 2 ปี เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ หลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ชะลอออกไป และเป็นการสนองต่อความต้องไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เดิมแผน PDP 2018 กำหนดให้โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้อง COD ในปี2570 แต่แผนใหม่เลื่อนเป็น COD ปี2568 และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้อง COD ในปี 2572 จะเลื่อนเป็น COD ปี2570 ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้น ได้สั่งการให้ กฟผ.จัดทำรายละเอียดแผนการจัดหาก๊าซฯที่ชัดเจนมานำเสนออีกครั้ง

ส่วนการจัดหาก๊าซฯภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก ในระยะยาว ระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และ กฟผ. หรือ สัญญา Global DCQ ที่จะจัดซื้อก๊าซฯจาก ปตท.ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ.เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ได้เห็นชอบให้ทำสัญญาจัดหาก๊าซฯ เฉลี่ยปริมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี หรือ ราว 490 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตลอดอายุสัญญา 10 ปี (ปี2563-2572)

และให้ กฟผ.จัดหาเองในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี หรือราว 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงปี 2563-2564 เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างรอ กฟผ. จัดทำแผนที่ชัดเจนมาเสนอต่อไป ขณะที่ กฟผ.มีความต้องการใช้ก๊าซฯต่อปี อยู่ราว 5-6 ล้านตัน

แหล่งข่าวจาก กฟผ.กล่าวว่า กฟผ. อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติแผนลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า อาทิ แผนการสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไทย - กัมพูชา โดยวางแผนที่จะซื้อขายพลังงานไฟฟ้าราว 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านระบบสายส่งแรงดัน 500 เควี ในปลายแผนPDP จากปัจจุบัน ไทยขายให้กัมพูชา อยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งขนาด 115 เควี และปลายปีนี้ จะเพิ่มเป็น 250 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะขยายสายส่งเป็น 230 เควี เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าเป็น 500 เมกะวัตต์

รวมถึง มีแผนแผนการสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไทย - เมียนมา โดยวางแผนที่จะซื้อขายพลังงานไฟฟ้าด้านจังหวัดตาก เริ่มต้นขายไปเมียนมาราว 60 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กฟผ.ได้จัดงานวันพบผู้ว่าการ ประจำปี 2563 โดยผู้บริหาร กฟผ. ได้อวยพรปีใหม่ พร้อมกับมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทั่วประเทศ

สำหรับแผนการดำเนินงานของ กฟผ.ในปี 2563 นั้น ยังมุ่งเน้นภารกิจสำคัญคือ การเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018) โดยเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 8 โรง รวมกำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาอนุมัติให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า

โดยหากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าผ่านมติ ครม. แล้ว คาดว่า จะเริ่มสร้างโรงแรก คือ โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน และโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ราวปี 2568

นอกจากนี้ กฟผ.พร้อมเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน Energy for All ค้นหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งจะเดินหน้าด้านการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้มีการลงนามต่อสัญญาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างไทย ลาว และมาเลเซีย ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (9ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พร้อมมอบนโยบายแก่ กฟผ. ณ สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี