PM2.5 กทม. ยังคงเกินค่ามาตรฐาน 38 พื้นที่ สิ่งแวดล้อม-กรมอนามัย พร้อมรับมือ ระวังกลุ่มเสี่ยง

PM2.5 กทม. ยังคงเกินค่ามาตรฐาน 38 พื้นที่ สิ่งแวดล้อม-กรมอนามัย พร้อมรับมือ ระวังกลุ่มเสี่ยง

เที่ยงนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐาน 38 พื้นที่ สิ่งแวดล้อม กทม. เตรียมแผนรับมือฝุ่นช่วงวันที่ 6-11 ม.ค. ขณะที่กรมอนามัย เตรียมแพทย์ พยาบาล ให้ความรู้ประชาชน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (8ม.ค.) กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 12:00 น. ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 40 - 75 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเช้า โดยพบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินคำมาตรฐานและเริ่มมีผกระพบต่อสุภาพ 38 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ คพ. ยังคงรายงานถานการณ์และแจังประสานขัอมูล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล ภารกิจตามมาตรการ "ภายใต้แผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ " อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองให้กลับสู่ปกติ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ
แบบ Real Time ได้ทางเว็บซต์ air4thai.com แอปพลีเคชั่น Air4Thai และ http://bangkokairquality.com

ขณะที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 10.00-12.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 41-71 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 59 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นละยังคงมีค่าเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 25 เขต คือเขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตบางกะปิ เขตลาดกระบัง เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตบางขุนเทียน เขตพระนคร เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม เขตสวนหลวง เขตคลองสามวา

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง และรักษาสุขภาพของตนเอง สำหรับพื้นที่ที่คุณภาพอากาศปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น

  • เผาหญ้าผิดกฎหมาย จำคุก 7 ปี ปรับ 14,000 บาท

ขณะที่ นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กล่าวว่า ในช่วงนี้อากาศแห้งและมีลมพัดกรรโชกแรง อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังภัย มิให้มีปัญหาในเรื่องของการเกิดอัคคีภัยหรือการเผาหญ้าในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของตนและผู้พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ตลอดจนเป็นการสร้างมลภาวะทางอากาศ เป็นหมอกควันและฝุ่นละออง (PM 2.5) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งอาจเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพราะกลุ่มควันจะบดบังทัศนวิสัยในการสัญจร

"เขตฯ จึงขอความร่วมมือเจ้าของที่ดิน และเจ้าของบ้านพักอาศัย หมั่นตรวจสอบที่ดินและบ้านพักของท่าน มิให้มีหญ้าขึ้นรกแห้ง หรือมีกล่องกระดาษ เศษกระดาษ ใบไม้ กิ่งไม้แห้ง หรือวัสดุ อุปกรณ์ที่สามารถเป็นเชื้อเพลิง หรือติดไฟง่าย เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย หากผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220" นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือประสบเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ ติดต่อขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ โทรสายด่วน 199 หรือสถานีดับเพลิงบางชัน โทร. 02-517-2919 หรือศูนย์รับร้องทุกข์เขตมีนบุรี โทร. 02-914-5838 ตลอด 24 ชั่วโมง

  • สิ่งแวดล้อม เตรียมแผนรับมือฝุ่นช่วงวันที่ 6-11 ม.ค.

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยถึงว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 6-11 ม.ค. ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีลมอ่อน หรือสงบในช่วงเช้า อาจส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" รวมทั้งเตรียมความพร้อมตามแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ เช่น รณรงค์ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่องและบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการในสังกัดไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษารถเพื่อลดมลพิษแก่ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชน การห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ การคุมเข้มปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอาคารตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

รวมทั้งเมื่อฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานได้มีการประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจ ภายใต้แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้เชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และสำนักงานประชาสัมพันธ์ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อมีค่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

  • กรมอนามัย เตรียมออกหน่วยให้ความรู้ปชช.

ด้าน นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมอบหมายให้กองควบคุมโรคติดต่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระวังอันตรายจากภาวะฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ตามแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

และขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ดำเนินการดังนี้ ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ในการป้องกัน และดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แก่ประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ ในสถานการณ์ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ให้ความรู้ และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน

ทั้งนี้สำนักอนามัยได้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้บรรเทาความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น