เปิดวิธีป้องกัน 'ข่าวปลอม' ลวงลึกหลอกแชร์

เปิดวิธีป้องกัน 'ข่าวปลอม' ลวงลึกหลอกแชร์

เมื่อข่าวปลอม ไม่ได้มาเพียงแค่ตัวอักษร แต่ก้าวล้ำสู่ AI ปลอมวิดีโอคนดัง วิธีป้องกันและข้อสังเกตที่มนุษย์เน็ตต้องรู้ มีอะไรบ้าง ?

ทุกวันนี้ข่าวสารต่างๆ เลื่อนไหลผ่านหน้าจอมือถือ เพียงเลื่อนปลายนิ้วขึ้น-ลง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นเป็นข่าวจริงที่ถูกต้อง หรือข่าวปลอม (Fake News) ที่มาทั้งรูปแบบผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ตลกขบขัน เสียดสี หรือเพื่อความสนุกสนานกันแน่

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมจุดสังเกตเบื้องต้นต่างๆ เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันและหลงเชื่อข่าวปลอม ยิ่งช่วงนี้กระแสข่าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการเมือง ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน โหมกระหน่ำเต็มโซเชียลมีเดีย

และด้วยเป็นยุคของเทคโนโลยี หรือดิจิทัลแล้ว "ข่าวปลอม" หรือ "Fake News" ไม่ได้มาแค่รูปแบบของตัวหนังสือ เล่าออกมาเป็นเรื่องราวข่าวสารเท่านั้น แต่ก็ยังมาในรูปแบบวิดีโอ หรือ Fake Video โดยระยะหลัง เริ่มมีขบวนการปลอมแปลงคลิปวิดีโอที่ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ สร้างตัวตนคนมีชื่อเสียง ที่มีใบหน้าคล้ายตัวจริงจนแยกแทบไม่ออก รวมถึงให้สามารถขยับร่างกายและพูดได้เหมือนตัวจริงมาก ทั้งที่คนดังเหล่านั้นไม่เคยพูดประโยคนั้นเลย เรื่องนี้ค่อนข้างสร้างความกังวลมากขึ้น เมื่อหนึ่งในเหยื่อของข่าวปลอมรูปแบบนี้ คือ ทั้งสองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง โอบามา และ ทรัมป์

ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายองค์กรต่างพยายามพัฒนาระบบตรวจสอบข่าวปลอมขึ้นมาด้วยตัวเอง อย่าง Facebook ที่ออกมาบอกว่า ได้ใช้ AI เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการตรวจสอบข่าวปลอมด้วย เรียกว่าหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง และยังเพิ่มแม่นยำ ด้วยการใช้คนเราตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ส่วนรัฐบาลไทยก็ไม่น้อยหน้า ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ขึ้นมา โดยเน้นย้ำตรวจสอบข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

157864273857

แต่สำหรับ "เรา" เหล่ามนุษย์เน็ตทั้งหลาย เมื่อต้องเจอข่าวปลอม (Fake News)โดยตรงจากสื่อต่างๆ จะมีวิธีป้องกันตัวเอง หรือเตือนคนรอบข้างได้อย่างไรบ้าง?

  1. สังเกตหัวข้อข่าว ซึ่งข่าวปลอมมักจะมีพาดหัวข่าวที่สะดุดตา หวือหวา ดูไม่น่าเป็นไปได้ และมักจะใช้อักษรตัวหนา หรือเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
  2. สังเกตลิงก์ข่าว มักจะเป็นลิงก์ข่าวที่ใช้ URL คล้ายกับของสำนักข่าว จนบางทีแทบแยกไม่ออก อาจปรับเปลี่ยนเล็กน้อยและเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
  3. สังเกตชื่อแหล่งข่าวว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเป็นที่รู้จักหรือไม่
  4. สังเกตสิ่งผิดปกติอื่นๆ เนื่องจากเว็บไซต์ข่าวปลอมมักสะกดคำผิด หรือวางเลย์เอาท์ไม่เป็นมืออาชีพ
  5. สังเกตรูปภาพหรือวิดีโอในข่าว มักบิดเบือนจากข่าวจริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับกับเรื่องนั้นๆ เลย
  6. สังเกตวันที่ ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการนำข่าวเก่าแล้วมาเปลี่ยนวันที่ใหม่หรือไม่
  7. สังเกตแหล่งข้อมูลที่มาในข่าว เช่น แหล่งข่าว 
  8. สังเกตจากแหล่งที่มาอื่นๆ
  9. สังเกตจากบริบทของเนื้อหา เนื่องจากข่าวปลอมบางครั้งอาจมาในรูปแบบของการล้อเลียน เสียดสี หรือตลกขบขัน
  10. ระมัดระวังเรื่องที่จงใจให้เป็นข่าว

ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้บอกแนวทางเบื้องต้นไว้เช่นกัน ดังนี้

1.ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน

2.ตรวจสอบแหล่งข้อมูลอื่นประกอบด้วย เพื่อจะได้ยืนยันว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น โรคระบาด

3.ตรวจสอบหาต้นตอข่าว เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือข้อมูลเก่า แล้วถูกนำมาเล่าใหม่ จุดประสงค์อาจใช้เพื่อเป็นประโยชน์แอบแฝง

4.สอบถามผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ขณะที่ กองปราบปราม ได้เตือนการนำข่าวปลอม ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเพียงแค่บางส่วน เขาไปในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์และส่งต่อข้อมูลเท็จจากแหล่งต่างๆ ล้วนมีความผิดทั้งนั้นตาม ...คอมพิวเตอร์ เช่น

  • โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง เช่น ข่าวปลอม โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกเอาเงินลูกค้า ฯลฯ มีความผิดตามมาตรา 14(1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14(3)
  • โพสต์ข้อมูลลามกที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีความผิดตามมาตรา 14(4)
  • เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลที่รู้ว่าผิด มีความผิดตามมาตรา 14(5)

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตัวเองอาจจะยากอยู่บ้างในบางกรณี แต่ก็ควรเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราจับมือถือ

ที่มา : ETDA, กองปราบปราม