'อุตตม' แจงปรับลดงบ 63 รวม 1.6 หมื่นล้าน เกลี่ยให้ 6 หน่วยรับงบประมาณ

'อุตตม' แจงปรับลดงบ 63 รวม 1.6 หมื่นล้าน เกลี่ยให้ 6 หน่วยรับงบประมาณ

“อุตตม” แจงปรับลดงบ 63 รวม 1.6 หมื่นล้าน เกลี่ยให้ 6 หน่วยรับงบประมาณ โหวตมาตราแรก 222 เสียงเห็นด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท วาระ 2-3

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 63 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2ล้านล้านบาท ชี้แจงรายงานของกรรมาธิการฯ ต่อสภาฯ ซึ่งพิจารณาเนื้อหาในวาระสอง ตอนหนึ่งว่า กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาปรับลดงบประมาณลง จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาเนื้อหาที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ความมั่นคงและนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงขีดความสามารถของการใช้งบประมาณ การใช้งบประมาณรายจ่ายในปีที่ผ่านมา รวมถึงพิจารณาถึงการดำเนินงานอย่างเข้มงวด อาทิ โครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือดำเนินการแล้ว แต่ล่าช้ากว่าแผ่น หรือดำเนินงานไม่ทัน รวมถึงปรับลดงบประมาณในโครงการที่ไม่ชัดเจน ดำเนินงานล่าช้ากว่าแผน และใช้จ่ายไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ปรับลดดังกล่าวได้เพิ่มงบประมาณให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาฯ, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานอัยการสูงสุด, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานรับงบประมาณสามารถรองรับโครงการที่สำคัญของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนรายการเปลี่ยนแปลงงบ ปี 2563 มีเพียงรายการเดียว คือ งบรายจ่ายกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จำนวน 27 ล้านบาท จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การอภิปรายของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และมาตราแรก โดยในมาตรา 1 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการฯ ขอสงวนความเห็น แก้ไขจาก “พระราชบัญญํตินี้ เรียกว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563” ให้มีคำต่อท้ายว่า “ฉบับออกไม่ทันทีงบประมาณ” ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่าการบัญญัติมาตรา 1 ดังกล่าวเป็นถ้อยคำปกติ แม้บางปีงบประมาณจะออกไม่ทันทีงบประมาณก็ตาม จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 222 เสียงเห็นด้วยกับร่างกรรมาธิการฯ ที่ไม่มีการแก้ไข ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 175 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวกับที่ประชุมด้วยว่า การประชุมจะมีการลงมติเป็นรายมาตราแบบดังกล่าาวต่อไป อีก 50 มาตรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ รายมาตรา นั้นต้องมีการลงมติเป็นรายมาตราหากพบการสงวนความเห็นหรือเสนอคำแปรญัตติ รวมถึงการแก้ไขจากกรรมาธิการฯ โดยในมาตราแรกนั้น พบว่าเสียงที่ลงมติสนับสนุนตามกรรมาธิการฯ นั้นห่างจากเสียงที่ไม่สนับสนุน ซึ่งรวมถึงไม่เห็นด้วย, งดออกเสียง, ไม่ลงคะแนน เพียง 42 เสียงเท่านั้น