กรอ.คาดตั้งโรงงานปีนี้พุ่ง 10% ชี้ผังเมือง 'อีอีซี' ชัดเจน ยอดขอ 'บีโอไอ' สูง

กรอ.คาดตั้งโรงงานปีนี้พุ่ง 10%  ชี้ผังเมือง 'อีอีซี' ชัดเจน ยอดขอ 'บีโอไอ' สูง

กรมโรงงานฯ คาดปีนี้จำนวนโรงงานพุ่ง 10% มูลค่าทะลุ 5 แสนล้านบาท ชี้ “อีอีซี” ลงทุนตั้งโรงงานเพิ่ม 64% เงินลงทุนกว่า 1.1 แสนล้านบาท

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลโรงงานที่เปิดใหม่และขยายกิจการในปี 2562 มีจำนวน 4,379 แห่ง ลดลงจากปีก่อน 15.80% เกิดการจ้างงาน 207,602 คน เพิ่มขึ้น 1.52% มีเงินลงทุน 483,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.86% ส่วนโรงงานที่ขอเลิกกิจการมี 1,743 แห่ง ลดลง 12.89% จำนวนคนงาน 43,987 คน เพิ่มขึ้น 5.68% และจำนวนเงินทุน 56,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.1%

สำหรับ โรงงานที่เปิดใหม่และขยายปี 2562 ที่เพิ่มมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 543 แห่ง 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 471 แห่ง และ 3.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 371 แห่ง 

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 89,190 ล้านบาท 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 58,024 ล้านบาท 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 39,377 ล้านบาท 4.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 35,010 ล้านบาท และ 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 29,262 ล้านบาท

ในขณะที่โรงงานที่ปิดกิจการปี 2562 เทียบกับปีก่อน มีจำนวนลดลง 12.89% จำนวนคนงานที่ตกงาน 43,987 คน มากกว่าปีก่อน 5.65% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 196 แห่ง 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 165 แห่ง และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช 158 แห่ง

157840443651

ลงทุนอีอีซีแสนล้านบาท

นายประกอบ กล่าวว่า โรงงานที่ประกอบและขยายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2562 มี 550 แห่ง จำนวนลดลง 10.86% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่มีเงินลงทุน 111,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.47% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายในอีอีซีมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 104 แห่ง 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 74 แห่ง และ 3.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 52 แห่ง

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายในอีอีซี ปี 2562 ใช้เงินลงทุนมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เงินลงทุน 37,256 ล้านบาท 2.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 14,616 ล้านบาท 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 9,365 ล้านบาท 4.กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 8,226 ล้านบาท 5.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 7,282 ล้านบาท

เครื่องใช้ไฟฟ้าจ้างงานมากสุด

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายในอีอีซี ปี 2562 ที่จ้างงานมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 5,618 คน กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 4,068 คน และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 2,696 คน

ด้านโรงงานที่ปิดกิจการในอีอีซี ปี 2562 เทียบกับปีก่อน มี 174 แห่ง ลดลง 45.96% จำนวนคนงาน 5,200 คน มากกว่าปีก่อน 22.96% มีมูลค่าเงินลงทุน 19,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการในอีอีซี ปี 2562 มากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 24 แห่ง 2.กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 17 โรงงาน และ 3.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 14 โรงงาน 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการในอีอีซี มีการเลิกจ้างงาน 3 อันดับ คือ 1.กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 1,175 คน 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 618 คน และกลุ่มสิ่งทอ 533 คน

“มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ปิดกิจการที่เพิ่มขึ้นมาก อาจจะมาจากโรงงานขนาดใหญ่ปิดกิจการ หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าชนิดอื่น หรือปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เห็นได้จากตัวเลขการเปิดกิจการและขยายกิจการที่เพิ่มขึ้นเยอะ โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีบางส่วนปรับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์แบบใหม่ ซึ่งเป็นภาวะปกติของภาคอุตสาหกรรม”

คาดลงทุนปีนี้5แสนล้าน

นายประกอบ กล่าวว่า ปี 2563 คาดว่าตัวเลขการเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการน่าจะมีจำนวนโรงงานสูงกว่าปี 2562 ประมาณ 10% ส่วนยอดเงินลงทุนน่าจะใกล้เคียงที่ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีน่าสนใจมาก 

รวมทั้งการประกาศผังเมืองอีอีซีที่ชัดเจน และยังมีตัวเลขสะสมของการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่เป็นจำนวนมาก จึงคาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ต้องจับตาผลกระทบจากสถานการณ์โลก เช่น สงครามการค้า และวิกฤตการที่อาจประทุขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนของไทยได้ 

"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวตามแนวทางการพัฒนาของประเทศ หรือการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะภาคอุตสาหกรรมของไทยจะมีความพร้อมที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ และเป็นมิตรกับชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการส่งเสริมทิศทางภาคอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ตามวิสัยทัศน์กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ให้ทันสมัย ก้าวไกล และยั่งยืน”

คุมเข้มโรงงานนอกนิคมฯ

ส่วนของการดูแลสิ่งแวดล้อมในอีอีซีของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะมุ่งเน้นในโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดูแลอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปดูแลตั้งแต่เริ่มขอใบอนุญาตตั้งโรงงานโดยจะตรวจสอบระเอียดในเรื่องของระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการบำบัดมลพิษต่างๆ ให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดมีความรอบคอบและชัดเจน และหลังจากตั้งโรงงานแล้วก็จะมีทีมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โรงงานเหล่านี้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามที่กำหนด ป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ   

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังและเตือนภัย Smart Monitoring กรมมีระบบรายงานมลพิษระยะไกลแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง (น้ำและอากาศ) รวมถึงเรื่องกากอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนาระบบ E-manifest ที่กำกับและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม 24 ชั่วโมง 

รวมทั้งมีศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษโรงงานอยู่ 6 ศูนย์ ส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น ชลบุรี และราชบุรี ถือเป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการประกอบการโรงงาน