เคลียร์ปมดราม่า 'หุ้น ร.พ.' ประกันสังคมยันจ่ายเพิ่มค่ารักษา

เคลียร์ปมดราม่า 'หุ้น ร.พ.' ประกันสังคมยันจ่ายเพิ่มค่ารักษา

เปิดปี 2563 ได้ไม่ค่อยสวยงามนัก สำหรับหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล แม้วันแรกจะวิ่งขึ้นได้ตามภาพรวมตลาด ดัชนีของกลุ่มเพิ่มขึ้น 0.52% แต่อีก 2 วันถัดมา ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว โดยลงไปลึกสุดถึง 5.5% ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกเข้ามารุมเร้าพร้อมๆ กัน

ประเด็นแรกที่ดูเหมือนจะกระทบโดยตรง คือเรื่องของ ‘ประกันสังคม’ แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ปัจจัยนี้จะส่งผลให้พื้นฐานของหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเปลี่ยนไปเลยหรือไม่

ในส่วนของประกันสังคมนี้ อาจจะแตกได้เป็น 2 ประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือ การที่สำนักงานประกันสังคมจะลดการจ่ายเงินชดเชยในส่วนของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากวงเงินงบประมาณคงเหลือในปี 2562 ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องลดการจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้ลงจาก 12,800 บาทต่อ Adjusted RW เหลือเพียง 7,100 บาทต่อ Adjusted RW โดยมีผลในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2562

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นส่งจะส่งผลต่อโรงพยาบาลที่รับคนไข้ประกันสังคมจำนวนมาก เช่น บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) และ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) จะต้องกลับรายการรายได้ออกไป หรือตั้งสำรองฯ เป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งทางประกันสังคมเคยจ่ายไม่ครบในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อปี 2560 – 2561

สำหรับ RJH และ CHG มีรายได้จากคนไข้ประกันสังคม 43% และ 32% ของรายได้รวม ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มีสัดส่วนคนไข้ประกันสังคมน้อยมาก คือ เพียง 2% ด้าน บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ไม่มีคนไข้ประกันสังคม

โดยรวมแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่าจะกดดันให้กำไรสุทธิปี 2562 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ราว 4 - 5% โดย RJH น่าจะต้องกลับรายการรายได้ออก 24.6 ล้านบาท และ CHG กลับรายได้ออก 31.8 ล้านบาท คิดเป็น 4.9% และ 3.5% ของคาดการณ์กำไรสุทธิหลังภาษีในปี 62 ซึ่งไม่ได้รุนแรงมาก

157846396735

ทางด้าน บล.คันทรี่ กรุ๊ป ประเมินว่า BCH, CHG และ RJH จะได้รับผลกระทบราว 7% 4% และ 3% ของกำไรปี 2562 ตามลำดับ

ประเด็นถัดมา คือ โอกาสที่สำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาเพิ่มการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาลในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะได้ปรับขึ้น 6-12% และน่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ส่วนผลบังคับใช้จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ทั้งนี้ คล้ายกับคราวก่อนคือเมื่อเดือน ก.ค. 2550 สำนักงานประกันสังคมปรับขึ้นค่าชดเชยให้กับโรงพยาบาล 6.5% แต่ในครั้งนี้น่าจะชดเชยสูงกว่า เพราะต้นทุนของโรงพยาบาลสูงขึ้น

โดยสรุปจะเห็นว่า ผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในระยะสั้นมีแน่นอน คือ กำไรไตรมาส 4 ปี 2562 น่าจะทำได้แย่กว่าที่ประเมินไว้ แต่ในระยะยาว(อาจ)จะเป็นผลกระทบในเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หากมีการปรับขึ้นค่าเหมาจ่ายรายหัวจริงตามที่มีกระแสมาก่อนหน้านี้ ซึ่งความไม่แน่นอนในส่วนนี้ยังรวมไปถึงตัวเลขที่จะปรับเพิ่มขึ้นว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่

ในส่วนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อหุ้นโรงพยาบาลในช่วงนี้ มาจากเรื่องของความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในไทยอาจจะถูกกระทบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลขึ้นมาต่อประเด็นนี้ โดยเฉพาะความกังวลต่อหุ้น BDMS ซึ่งราคาหุ้นปรับลดจาก 26 บาท ไปต่ำสุดที่ 24.30 บาท

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความกังวลที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เพราะล่าสุดราคาหุ้น BDMS สามารถฟื้นตัวกลับมายืนได้ที่ระดับ 25.50 บาท

เมื่อลองพิจารณาสัดส่วนลูกค้าต่างชาติของบริษัทที่ประมาณ 30% พบว่า กลุ่มลูกค้าต่างประเทศ 5 ชาติที่มีสัดส่วนสูงสุด ได้แก่ ยูเออี ญี่ปุ่น กัมพูชา จีน และสหรัฐ

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล วานนี้ (7 ม.ค.) ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ประมาณ 0.6% หนุนโดยการฟื้นตัวของหุ้นที่ดิ่งลงไปแรงก่อนหน้านี้ ทั้ง BCH ที่เพิ่มขึ้น 5.3% และ CHG เพิ่มขึ้น 3.33%

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่นักวิเคราะห์กังวลว่าอาจจะเข้ามากดดันหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในอนาคต คือ ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น 

บล.หยวนต้า มองว่า ในปี 2563 แนวโน้มการแข่งขันของโรงพยาบาลมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากอุปทานจำนวนเตียงจดทะเบียนเพิ่มมากกว่า 3.2 พันเตียง หรือไม่ต่ำกว่า 8% ของเตียงจดทะเบียนโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน ซึ่งเรามองว่าจะกระทบต่อโรงพยาบาลที่อยู่ในตัวเมืองและใกล้จุดที่มีการเปิดโรงพยาบาลใหม่ อย่าง BH และ BDMS