ครม. เห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย

ครม. เห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย

ครม. เห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมกับนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมกันแถลงมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย โดยโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัวและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบทางลบเป็นวงกว้างต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภาคการส่งออกไทย นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ดังนั้น เพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน รัฐบาลจึงยกระดับให้การส่งเสริมความสามารถของ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ วางยุทธศาสตร์การช่วยเหลือ SMEs อย่างชัดเจนและครบวงจร ครอบคลุมการสนับสนุน SMEs ตั้งแต่การให้ความรู้ การยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยี การขยายตลาด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน โดยพัฒนาในทุกมิติคู่ขนานกันไป


คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กลุ่ม SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินค้ำประกัน โดยสามารถค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ลูกหนี้ Re-finance ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


1.2 โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) โดยธนาคารออมสิน วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 0.1 ต่อปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ร้อยละ 4 ต่อปีระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อให้รวมถึงธุรกิจที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รวมถึงเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียวได้

1.3 โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity โดยธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ลบร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.375 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

2. กลุ่ม SMEs ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที


โครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 จะขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

3. กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้


3.1 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้ สสว. ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วด้วย


3.2 โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. วงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วสามารถเข้าโครงการได้


3.3 โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี


3.4 โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 10,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี


3.5 โครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย


3.6 โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี


4. มาตรการอื่น ๆ


4.1 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็น NPLs และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ


4.2 สมาคมธนาคารไทยโดยความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะกำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


4.3 มาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้


1) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ


2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนหรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสาร เพื่อชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้


3) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ)


4) ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้


5) ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และความร่วมมือที่ดีจากสมาคมธนาคารไทยจะช่วยสนับสนุนและบรรเทาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อ SMEs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ต่อไป