'มหาดไทย' ประสานกรมชลฯ ปล่อยน้ำสกัดน้ำเค็ม วอนหยุดสูบน้ำทำเกษตร

'มหาดไทย' ประสานกรมชลฯ ปล่อยน้ำสกัดน้ำเค็ม วอนหยุดสูบน้ำทำเกษตร

"อนุพงษ์" เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ประสานกรมชลฯ ปล่อยน้ำสกัดน้ำเค็ม วอนปชช. หยุดสูบน้ำทำเกษตร ยันดูแลเรื่องอาชีพไม่ให้เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการรับมือภัยแล้ง ว่า ในปีนี้จะมีน้ำน้อย ส่วนการประกาศพื้นที่ภัยแล้งตอนนี้มี 14 จังหวัด ถ้าเรามาดูในรายละเอียดส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีความเสี่ยงจำนวน 22 จังหวัด ส่วนนอกพื้นที่ของ กปภ. และที่มีความเสี่ยงปัญหาเรื่องประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้าน มี 43 จังหวัด โดย กปภ. ได้เตรียมการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 แล้ว และมีแผนงานแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ต่างๆ เมื่อน้ำลดลงก็จะจัดทำแผนงานเพิ่ม ซึ่งจะต้องนำน้ำมาจากที่อื่น

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) ก็มีปัญหาน้ำกร่อย ที่มีปริมาณเกลือในน้ำมาก ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ในเรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ กปน. ทำงานประสานงานกับกรมชลประทาน ซึ่งได้ปล่อยน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำป่าสักฯ ลงมา โดยปล่อยน้ำจากเขื่อนชัยนาท 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปล่อยน้ำจากแม่น้ำแม่กลองออกมาอีก 20 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้ จะสามารถดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึงสถานีสูบน้ำประปาสำแล จังหวัดปทุมธานีได้

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในบางช่วงจะมีประชาชนไปสูบน้ำ ซึ่งหากไปสูบในช่วงที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมา ปริมาณเกลือที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล จะขึ้นไปสูงถึง 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่จะทำให้รู้สึกถึงความเค็ม หากปริมาณเกลืออยู่ที่ 0.5 ถึง 0.6 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็คิดว่าน่าจะไม่ค่อยรู้สึก ตนอยากจะสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบว่าในสถานการณ์น้ำนั้น ทางกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อให้อยู่ได้ถึงเดือนกรกฎาคม โดยเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ฉะนั้นเกษตรกรต้องช่วยกันอย่าสูบน้ำขึ้นมา โดยเฉพาะการนำน้ำไปทำนาที่จะต้องใช้ปริมาณน้ำมาก

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 7-10 มกราคมนี้ ทางกรมชลประทานจะปล่อยน้ำมามากกว่าปกติ ซึ่งจะมาถึงที่กรุงเทพมหานครในช่วงที่น้ำขึ้นพอดีคือ วันที่ 13 มกราคม กล่าวโดยสรุปก็คือเราจะเน้นใช้น้ำไปที่การอุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรเป็นรอง ประชาชนเองก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะยังเหลืออีกหลายเดือนกว่าฝนจะตก ส่วนผลกระทบภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อการทำมาหากินของประชาชน ทางรัฐบาลก็มีแนวทางที่จะช่วยเหลือตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยเมื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งแล้ว ก็จะสำรวจความเสียหาย โดยตนจะติดตามสถานการณ์ และเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทราบถึงมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน การช่วยเหลือในพื้นที่ส่วนนอกนั้นเราก็เตรียมการที่จะนำน้ำจากข้างนอกหรือน้ำบาดาล ส่วนในบางพื้นที่ที่ไม่มีน้ำแน่ๆ ก็จะเตรียมการส่งน้ำให้กับพี่น้องประชาชน ตนก็ยังคาดหวังว่าเราจะผ่านแล้งนี้ไปได้แม้ว่าจะรุนแรงอยู่มากพอสมควร แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

"โดยเราได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขวิกฤตน้ำ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการเอง ซึ่งในส่วนพื้นที่ที่มหาดไทยดูแลเอง เราก็จะเป็นลูกมือของศูนย์ในการปฏิบัติการ รวบรวมข้อมูล และการร้องขอการแก้ไขปัญหาน้ำ และประสานหน้าที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงาน โดยจะทำหน้าที่เตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพราะเรามีเครื่องมือที่จะลงพื้นที่ช่วยพี่น้องประชาชนได้ส่วนพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาด้านอาชีพและการทำมาหากินโดยเฉพาะผู้ที่ทำการเกษตรจะมีแผนการด้านการจ้างงาน และหาคือที่ใช้น้ำน้อยและเหมาะสมกับพื้นที่คงมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องทำ เพราะพี่น้องประชาชนไม่สามารถทำการเกษตรได้เลยจึงต้องสำรวจและช่วยเหลือกัน" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว