'เมกเกอร์แฟร์' ปี5 จุดพลังสร้าง Smart Nation

'เมกเกอร์แฟร์' ปี5 จุดพลังสร้าง Smart Nation

เชฟรอนเผย “เมกเกอร์แฟร์” 18-19 ม.ค.นี้ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเมกเกอร์ไทย จุดพลุวัฒนธรรมเมกเกอร์ แบ่งปันเครื่องมือ-ความรู้ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเมกเกอร์อาเซียน - smart nation

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมจัดงานเมกเกอร์แฟร์ ปีที่ 5 ภายใต้ธีม “The Future We Make” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศ พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์คช็อป 600-700 กิจกรรมระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค.นี้ ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา


อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ เชฟรอน เปิดเผยว่า เมกเกอร์แฟร์ เป็น 1 ในกิจกรรมภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี งบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ริเริ่มขึ้นในปี 2558 และกำหนดสิ้นสุดโครงการในปี 2563 ขณะนี้ทางคณะทำงานอยู่ระหว่างการประเมินเพื่อวางแผนอนาคตให้กับโครงการฯ ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เบื้องต้นพบว่า กิจกรรมตลอด 4 ปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบให้กับสังคมไทยพอสมควร และถือว่าบรรลุเป้าหมายของโครงการฯ ทั้งเมกเกอร์แฟร์ เมกเกอร์สเปซ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กและอื่นๆ ถือเป็นโมเดลการสร้างคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต ที่ภาครัฐควรจะนำไปขยายผลต่อ ทั้งนี้ ทางโครงการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกันว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถส่งต่อกิจกรรมต่างๆ ให้กับภาครัฐ

157831536987


โครงการฯ มีเป้าหมายมุ่งเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ผ่านกิจกรรมด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษา (วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) และการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมการเพิ่มจำนวนนักเรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มให้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ยกตัวอย่างงานเมกเกอร์แฟร์ เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว หัวข้อความสนใจในคนไทยอยู่ที่การประกวดร้องเพลง เป็นเรื่องของการแสดงออก แต่ปัจจุบันมีความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราต้องการสร้างให้เกิดในสังคมไทย หากเราจะก้าวจากประเทศรายได้ขั้นกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ก็ต้องทำเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นสิ่งที่หลายประเทศพิสูจน์มาแล้ว”

ไม่เพียงแต่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปได้รู้จักกับคำว่า “เมกเกอร์” จนเกิดความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้ในวิชาสาขาสะเต็มทั้งในและนอกห้องเรียน แต่ยังได้ปลูกฝังกรอบความคิดการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการกล้าคิด กล้าทดลองและกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงาน ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองและสังคม ไปพร้อมกับส่งต่อแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับเมกเกอร์รุ่นใหม่ จึงถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการจัดหาทรัพยากรให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

157831539870

ภาพ:ผลงาน AI Racing Car โดย เชียงใหม่ เมกเกอร์คลับ

ด้าน จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สวทช. สนับสนุนให้เกิดงานเมกเกอร์แฟร์ ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งเสริม วัฒนธรรมเมกเกอร์ ให้มีการเติบโตและแพร่หลายในเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเมกเกอร์ ซึ่งมีทั้งผู้ที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และผู้ที่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จอีกหนึ่งประการของงานเมกเกอร์แฟร์ก็คือ การออกนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ฯ ในการผลักดันวงการเมกเกอร์ไทยไปสู่การเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” หรือประเทศแห่งนักพัฒนา ผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางเมกเกอร์ในภูมิภาคอาเซียน และเตรียมความพร้อมในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็น Smart Nation อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้วัฒนธรรมเมกเกอร์แพร่หลายในวงกว้าง และผลักดันประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง

157831545579


ชานนท์ ตุลาบดี ผู้ก่อตั้งบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิต kidbright บอร์ดส่งเสริมการเรียนรู้พื้นฐานของการเขียนโค้ดหรือการเขียนโปรแกรม กล่าวว่า ทิศทางการเติบโตของธุรกิจโดยเมกเกอร์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากมีงานเมกเกอร์แฟร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้เยาวชนและประชาชนคนทั่วไปรู้จักและเข้าใจบทบาทของ “เมกเกอร์” มากขึ้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเมกเกอร์ต่างสาขาและความชำนาญเข้าหากัน ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มสังคมที่เหนียวแน่น สังคมของเมกเกอร์จะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ที่ชำนาญ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาผลงานออกมาได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงแผนการดำเนินธุรกิจ ที่จะช่วยให้สามารถสร้างรายได้จากผลงานเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจของตนเองได้อย่างมั่นคง และมีส่วนสำคัญทั้งในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้มีความเข้มข้นและขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า


กิจกรรมงาน Maker Faire Bangkok 2020 ประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ ขบวนอิเลคทริคพาเหรดไปที่เปรียบเสมือนไฮไลท์ประจำงานที่กรุงเทพฯ และกิจกรรมเวิร์กช็อปร่วม 700 หัวข้อที่นำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อต่อยอดการเป็นเมกเกอร์อย่างเต็มตัว อีกทั้งจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest สายสามัญและอาชีวศึกษา ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ทีมผู้ชนะเลิศจะมีโอกาสเข้าร่วมงานเมกเกอร์โลกที่สหรัฐ