สกพอ.ลุยแผนแก้จนอีอีซี ผู้มีรายได้น้อยหมดภายใน 3 ปี

สกพอ.ลุยแผนแก้จนอีอีซี  ผู้มีรายได้น้อยหมดภายใน 3 ปี

สกพอ.เผยปี 2563 เร่งพัฒนาชุมชน 3 จังหวัด ช่วยลดผู้รายได้น้อย 3.5 แสนคน หมดใน 3 ปี หนุนท่องเที่ยวนอกเขตเมืองสร้างรายได้ชุมชนปีละ 1.2 แสนล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 นอกจากจะเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนแล้ว สิ่งที่จะเร่งรัดอีกด้าน คือ การพัฒนาชุมชน

สกพอ.ได้เตรียมแผนงานประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 2.ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 3.ก้าวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BGC)

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งการสำรวจในอีอีซี 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) มีประชากร 3.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี จำนวน 3.5 แสนคน หรือคิดเป็น 14% ของประชากรอีอีซีทั้งหมด โดยเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี) จำนวน 2.4 แสนคน และผู้มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน (มีรายได้ 3 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อคนต่อปี) จำนวน 1.1 แสนคน

สกพอ.ตั้งเป้าลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดไปภายใน 3 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้รายได้น้อยส่วนใหญ่ถึง 93% มีระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษา มีอาชีพค้าขาย รับจ้างอิสระ และบริการ 36% และเป็นผู้สูงอายุ 38% 

ทั้งนี้ สกพอ.ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำโครงการบัณฑิตอาสา ซึ่งจะส่งนักศึกษาลงพื้นที่อีอีซี 200 คน เพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คาดว่าจะใช้เงินกองทุนอีอีซี 20-30 ล้านบาท มาจ้างนักศึกษาเหล่านี้ จากนั้นจะนำข้อมูลมาจัดทำโครงการเพื่อยกระดับฐานะของคนกลุ่มนี้

เชื่อมท่องเที่ยวชุมชน

รวมทั้งมีโครงการขยายการท่องเที่ยวชุมชน โดยจะยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวพื้นที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งจะขยายการท่องเที่ยวพื้นที่รอง เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละ 1.2 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี 

โดยจะเสนอรัฐบาลให้ผู้ที่มาเที่ยวนอกตัวเมืองในอีอีซี สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีบุคคลธรรมดาได้ แบบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และจะสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชน เช่น บ้านตะพง จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเข้าไปช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ การท่องเที่ยวทางเรือ

ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะมีโครงการ “เชื่อมเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก” ซึ่งจะยกระดับเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการนำเอสเอ็มอีเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงเอสเอ็มอีไทย เพื่อเป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้รับเหมาให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดพื้นที่เฉพาะเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรม และกำหนดเขตส่งเสริมแบบคลัสเตอร์ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ) และให้สิทธิประโยชน์เอสเอ็มอีที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

157831470882

ยกระดับระเบียงผลไม้

สำหรับการยกระดับสินค้าเกษตรนั้น จะยกระดับโครงการะเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ให้เป็นโครงการหลักของอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมศึกษารายละเอียดไว้แล้ว ซึ่งปี 2563 จะผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม 

โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ได้จัดเตรียมพื้นที่ 23 ไร่ รองรับ ที่ ต. มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ซึ่งประสานงานกับ ปตท.นำความเย็นที่ได้จากโรงแปรสภาพก๊าซแอลเอ็นจี มาใช้ในห้องเย็นรักษาความสดของผลไม้ในอีอีซี รวมทั้งการจัดทำตลาดกลางที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับราคาให้เกษตรกร

นอกจากนี้ ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้านสาธารณสุขถ้วนหน้า โดยจะใช้ข้อมูลชุดเดียวกันในการพัฒนาระบบข้อมูลและระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ประสานการระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งร่วมลงทุนในพื้นที่ที่มีความพร้อมให้สามารถหาราบได้พึ่งพาตนเอง และผลจากการพัฒนาอีอีซี จะช่วยสร้างงานที่มีคุณภาพกว่า 4.65 แสนคน ภายใน 5 ปี โดยจะพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ อีอีซี ผ่านทาง อีอีซีโมเดล โดยจะพัฒนาหลักสูตรเร่งด่วน 120 หลักสูตร พัฒนาแรงงาน 2 หมื่นคน ภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ จะนำร่องพัฒนาพื้นที่ 3 เกาะให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด โดยทั้ง 3 เกาะมีประชากร 8,724 คน 3,594 ครัวเรือน ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความชัดแย้ง สร้างกลไกการกำกับดูแล และสร้างแนวทางการพัฒนาร่วมกันในอนาคต

กระตุ้นลงทุน“บีซีจี”

ส่วนการก้าวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มีเป้าหมายให้อีอีซีเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เกิดความมั่นใจ สมดุลบ และยั่งยืน โดยในอีอีซีจะมีโครงการที่เกี่ยวข้อง 86 โครงการ มีงบลงทุน 13,572 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่จะมีการพัฒนา ได้แก่ ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานร่วมทุนกับเอกชนใน จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่า 1,073 ล้านบาท โครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอย จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่า 145 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา 1,094 ล้านบาท ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ จ.ชลบุรี 357 ล้านบาท 

ศูนจัดการขยะมูลฝอยเมืองพัทยาร่วมทุนเอกชน 3,000 ล้านบาท ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเกาะล้าน จ.ชลบุรี เอกชนร่วมลงทุน 200 ล้านบาท โครงการรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคืนธรรมชาติในอนาคต 6 โครงการ จ.ระยอง มูลค่า 200 ล้านบาท

ดันโรงไฟฟ้าขยะ6แห่ง

นอกจากนี้ มีโครงการต้นแบบการกำจัดขยะครบวงจรโดยการก่อสร้างโรงเผาขยะเพิ่มขึ้น 6 โรง จากที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ จ. ระยอง 1 โรง คือ ศูนย์กําจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร เริ่มเปิดใช้งานในปี 2564 โดยใน 6 โรงที่จะสร้างเพิ่ม ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา 1 โรง กำจัดขยะได้ 709 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 15 เมกะวัตต์ กำจัดขยะรายวันของ จ.ฉะเชิงเทราได้หมด 

จ.ชลบุรี 2 แห่ง โรงที่ 1 กำจัดขยะ 1,500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ โรงที่ 2 กำจัดขยะ 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ กำจัดขยะรายวันของ จ.ชลบุรีได้หมด ส่วน จ.ระยอง 1 โรง กำจัดขยะได้ 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ กำจัดขยะรายวันของ จ. ระยอง