แรงกระเพื่อมการเมืองโลก

แรงกระเพื่อมการเมืองโลก

 “มวยถูกคู่” คำๆนี้น่าจะใช้อธิบายสถานการณ์การเมืองโลกระหว่างสหรัฐและอิหร่านได้เป็นอย่างดี

 “มวยถูกคู่” คำๆนี้น่าจะใช้อธิบายสถานการณ์การเมืองโลกหลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ เพื่อสังหารนายพล กัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังหน่วยรบพิเศษ Quds Force ทหารคนสำคัญของผู้นำสูงสุดอิหร่าน เมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค. 2563 ซึ่งจนถึงขณะนี้ฝ่ายอิหร่านยังไม่มีการตอบโต้ใดอย่างเป็นทางการ หรือเรียกได้ว่าเงียบผิดปกติ ซึ่งคำอธิบายนี้ไม่นับอารมณ์การโต้ตอบกันไปมาทางวาจาผ่านสื่อต่างๆ

การเมืองในตะวันออกกลาง มีสายสัมพันธ์หลักคือเรื่องของศาสนาอิสลาม แต่สำหรับอิหร่าน เป็นอีกนิกายที่มีรายละเอียดเบื้องหลังเบื้องลึกที่ฝังแน่นกินใจมุสลิมด้วยกันทำให้อิหร่านแปลกแยกจากตะวันออกกลางประเทศอื่นๆ

“ลุยเดี่ยว” หากอิหร่านจะตอบโต้สหรัฐไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า สู้แบบไร้พันธมิตร แต่คู่ขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่ อิรัก หรือประเทศตะวันออกลางอื่นๆ แต่เป็นคนไกลจาก“สหรัฐ” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมาจากไหนถึงกล้าจุดไฟแค้นให้กับอิหร่าน ซึ่งมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ และมียุทธศาตร์ที่ตั้งที่สำคัญในบทบาททางทะเลในภูมิภาคนี้ แต่ที่สำคัญที่สุด เมื่ออิหร่านจะสู้ นั่นหมายถึง สู้ทั้งประเทศและทุกวิถีทาง

ยกตัวอย่างแนวทางต่อสู้ของอิหร่าน เช่น เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียสามารถจับกุมหญิงชาวอิหร่านที่ลักลอบขน“ระเบิดพลาสติก” ที่เคลือบไว้กับกระเป๋าเดินทาง เป้าหมายครั้งนี้เพื่อก่อวินาศกรรมและยังมีอีกหลายวีรกรรมที่อิหร่านทำไว้ 

ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้ ไม่ใช่ความรุนแรงของความขัดแย้ง แต่เป็นความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ บนความหวาดระเเวง และความไม่ชัดเจนซึ่งนี้แหละคือแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นโดยมีเหตุการณ์ที่สหรัฐโจมตีอิหร่านเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา

หลังการโจมตี ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 4% ตามมาด้วยบทวิเคราะห์ถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้น ส่งผลให้หุ้นบริษัทพลังงานทั้งหลายขยับยกแผง นี่ก็เป็นแรงกระเพื่อมหนึ่ง ตามดูกันต่อไป ผลของเหตุการณ์นี้จะทำอะไรคนไทยอย่างเราๆได้บ้าง

ค่าครองชีพสามารถสะท้อนผ่านเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า“เงินเฟ้อ” เพราะเป็นการสำรวจสัดส่วนการใช้จ่ายจริง หากเงินเฟ้อเพิ่มสูงเท่าไหร่ก็เท่ากับว่าค่าของเงินในกระเป๋าลดไปลงตามนั้น แต่อีกด้านก็สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหว ดังนั้นถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราขยายตัวเศรษฐกิจก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 

สำหรับน้ำมันมีสัดส่วนในการคำนวนเงินเฟ้อ7.44% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากรองลงมาจากค่าใช้จ่ายส่วนอาหาร ดังนั้น หากสถานการณ์สหรัฐ-อิหร่านยืดเยื้อและอยู่บนความไม่แน่นอนแบบนี้ต่อไป ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยทางเศรษฐกิจในเชิงรายได้

เนื่องจาก ไทยมีสัดส่วนพึ่งพาการส่งออกถึง 70% และหากเศรษฐกิจโลกถูกปัญหาตะวันออกกลางบั่นทอนความเชื่อมั่นแน่นอนการส่งออกจะได้รับผลกระทบด้วย ต่อให้ปัญหาจำกัดวงอยู่เพียงพื้นที่ตะวันออกกลางก็ตาม 

ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อย่าง โดนัล ทรัมป์  น่าจะจบลงได้ด้วยเหตุผลแบบทรัมป์ ๆคือ ใกล้เลือกตั้งพ.ย.เมื่อไหร่ มี 2 ทางคือ เร่งจบปัญหาเพื่อล่าคะแนนเสียงหรือกระพือไฟสงครามให้แรงขึ้นเพื่อปลุก “อเมริกัน ดรีม” ตื่นจากฝัน

“แรงกระเพื่อมการเมืองโลก” อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่มีความละเอียดอ่อน และส่งผลกระทบต่อเราได้ ที่สำคัญคือรู้เท่าทันและเตรียมตัวรับมือเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด