เปิด “งบบัตรทอง”ปี64ขอเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท

เปิด “งบบัตรทอง”ปี64ขอเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท

บอร์ด สปสช.เห็นชอบงบบัตรทอง ปี 64 จำนวน 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท งบเหมาจ่ายรายหัว 3,853 บาทต่อประชากร เตรียมชง ครม.อนุมัติ พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับระบบบริการ 19 รายการ

         วันนี้(6 ม.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณต่อไป

           นายอนุทิน กล่าวว่า ภาพรวมของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ปี 2564 ที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบในวันนี้ อยู่ที่จำนวน 202,704.07 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่จำนวน 190,366 ล้านบาท โดยเสนองบประมาณเพิ่มขึ้น 12,388.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 โดยแยกการบริหารดำเนินงานกองทุนเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 งบค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 183,574.24 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่จำนวน 173,750.40 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากร 47.6 ล้านคน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 3,853.04 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ จากปี 2563 อยู่ที่จำนวน 3,600 บาท โดยเป็นงบประมาณที่เสนอเพิ่มขึ้นจำนวน 9,823.84 ล้านบาท หรือ 253.04 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ เมื่อหักเงินเดือนภาครัฐจำนวน 51,790.93 ล้านบาท เหลือเป็นงบกองทุนฯ ที่ สปสช.ได้รับมาบริหารจำนวน 131,783.30 ล้านบาท
           ส่วนที่ 2 งบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว เสนอจำนวน 19,129.83 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่จำนวน 16,588.59 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 9,823.84 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการใน 6 กลุ่มบริการ ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมบริการควบคุมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 3,757.93 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 9,978.32 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดัน และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,280.83 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนใต้ จำนวน 1,522.09 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนจำนวน 838.02 ล้านบาท และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการะดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวจำนวน 1,752.61 ล้านบาท

          นางดวงตา ตันโช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้งบประมาณกองทุนบัตรทองปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อทั้งในส่วนของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ยาและเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น การปรับบริการให้ชัดเจน และการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 กองทุนบัตรทองมีสิ่งใหม่เพิ่มเติม ดังนี้ เพิ่มความเข้มแข็งของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่  1.คัดกรองโรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ในหญิงตั้งครรภ์ 2.ตรวจคัดกรองตรวจภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) ในทารกแรกเกิด 3.คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้กับประชากรทุกสิทธิ 4.สนับสนุนติดตามพัฒนาการเด็กไทยโดยเพิ่มสมุดติดตามประเมินพัฒนาการเด็ก 5.แว่นตาสำหรับเด็กที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่ามีปัญหาสายตา 6.ฉีดวัคซีนรวม หัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1.5 ปี และ7.นำร่องบริการยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) และเพิ่มการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันเอดส์
          เพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้แก่ 1.เพิ่มบริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรมเอกชน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟันและถอนฟัน 2.บริการฉุกเฉินนอกเวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ 3.เพิ่มบริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจากพ้นระยะฉุกเฉินในโรคหลอดเลือดสมอง, บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บไขสันหลัง 4.บริการกรณีโรคหายาก จัดระบบให้มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว 5.บริการฝังเข็มสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  6.บริการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (automate) 7.บริการเชิงรุกดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในชุมชน และ8.บริการฟื้นฟูสุขภาพที่ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพคนพิการ
            นอกจากนี้ กองทุนบัตรทองยังได้ปรับระบบเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับประชาชน ลดการรอคอยบริการ และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ได้แก่ 1.การให้ผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาต่อเนื่อง 2.ให้ประชาชนสามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล ได้ที่คลินิกหรือศูนย์บริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Laboratory) 3.เพิ่มบริการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้ป่วยโดยคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อระหว่างหน่วยบริการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์และการปรับระบบบริการนี้ นอกจากทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นแล้วยังพัฒนาระบบบัตรทองให้ดียิ่งขึ้น