น้ำดันน้ำเค็ม หาย! คาดถูกชาวนาดึงไปใช้ระหว่างทาง

น้ำดันน้ำเค็ม หาย! คาดถูกชาวนาดึงไปใช้ระหว่างทาง

สทนช. หวั่น นำ้ไม่พอผลักดันน้ำเค็ม วอนอย่าปลูกข้าวนาปรังเพิ่มไปกว่านี้ พร้อมผันน้ำแม่กลองมาช่วย

​ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านนำ้ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อหารือมาตราการรับมือภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุก จนส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบปัญหาน้ำประปากร่อยในเวลานี้ 
ดร.สมเกียรติ​ กล่าวว่า​ เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง​ คือ​ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติย์ ระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา​ วันละประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร​ แต่มีน้ำไหลระบายออกจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา​ ที่จังหวัดชัยนาทเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร​ น้ำส่วนที่หายไป 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร​ คาดว่า มีเกษตรกรดึงไปใช้เพื่อการเกษตร​ จึงทำให้ไม่มีน้ำ​ เพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน
สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำนวน 1.1 ล้านไร่ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนนี้จจะไม่ได้รับผลกระทบ​ แต่ข้าวนาปรัง​ จำนวน 2 ล้านไร่กว่า​ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องควบคุมไม่ให้เกินไปจากนี้​ ดร. สมเกียรติกล่าว
ปัจจุบันหน่วยงานได้ปรับแผนนำน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองมาช่วยผลิตน้ำประปา​และชะลอความเค็ม​ โดยน้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 7 -​ 15 มกราคมนี้​ ทำให้มีลิ่มความเค็มสูง​ กระทบการผลิตน้ำประปา​ จึงเร่งผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ผ่านสามคลองหลักคือ คลองท่าสาร-บางปลา, คลองจรเข้สามพัน โดยขณะนี้มีการปรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้น จาก 35 ลบ.ม./วินาที เป็น 50 ลบ.ม./วินาที ก่อนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าสู่คลองพระยาบันลือและไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้กรมชลประทานกำลังพิจารณาเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระยาบันลือให้มากขึ้น และคลองประปา
โดย​ได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง​ แล้ว​ 200​ ล้านลบ.ม.​ ซึ่งตั้งโควต้า​ไว้​ 500​ -​ 800​ ล้านลบ.ม.​
คนในลุ่มน้ำแม่กลอง​ จะไม่ได้รับผลกระทบ​ เพราะเป็นน้ำส่วนเกิน​, ดร. สมเกียรติกล่าว 
157830494622
ภาพ/ ประตูน้ำสิงหนาท คลองพระยาบรรลือ-แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา/ สทนช.
ส่วนอีกหนึ่งมาตรการที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้​ คือ กรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำ พร้อมเสนอตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งมีการขออนุมัติงบกลางจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในระยะสั้นในช่วงเวลา 2-3 เดือนนี้ด้วย
ทั้งนี้ วันที่ 10 ม.ค. นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมายัง สทนช. เพื่อเป็นประธานเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ให้ทุกส่วนราชการกว่า 30 หน่วยงาน ได้ผนึกกำลังในการแก้ไขปัญหาในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม 
ทางด้านผู้ว่าการการประปานครหลวง นายปริญญา ยมะสมิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำเค็มเข้ารุกมาถึงสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำแล​ จ.ปทุมธานี​ ทำให้ต้องหยุดสูบบางช่วง​ และใช้น้ำดิบสำหรับผลิตประปา​จากน้ำเจ้าพระยาให้น้อยลง​ โดยปรับมาใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ผันเข้ามาเพิ่มให้มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งประชาชนไปแล้วว่าน้ำประปาจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาน้ำเค็มรุก โดยให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคไต​ เบาหวาน​ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา แต่ยืนยันว่าน้ำประปายังมีคุณภาพ ยกเว้นค่าความเค็มที่บางช่วงอาจเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร​ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่วันนี้ความเค็มยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
ผู้ว่าการประปานครหลวง ยอมรับว่า การที่น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงจุดสถานีสูบน้ำดิบ​ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น​ จากค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ​ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น​ จะการสูบไม่ต่อเนื่อง​ ส่วนค่าปรับคุณภาพของน้ำประปา​ การประปาส่วนนครหลวง​ ต้องแบบรับต้นทุนนี้มานานแล้ว​ เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบที่เป็นอยู่ค่อนข้างต่ำ​ มีสาหร่าย​ จำนวนมาก​ แต่ยังไม่มีนโยบายขึ้นค่าน้ำประปาแต่อย่างใด 
นอกจากการใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองสำรองไว้ผลิตน้ำประปาแล้ว  อีกมาตรการ​ระยะสั้น​ คือเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปา 4 จุด ได้แก่โรงงานผลิตน้ำบางเขน​  สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี​ สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง​ และสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง รวมกันจะมีกำลังการผลิต 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ส่วนแผนระยะกลาง​ และระยะยาว ได้วางแผนย้ายสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปา​ จากสถานีสูบน้ำสำแล​ จ.ปทุมธานีซึ่งตั้งมาเป็นเวลากว่า 100​ ปีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ รัชกาล​ที่​ 5​ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง​ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาจทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายจุดสูบน้ำดิบขึ้นไปอีก​ 20​ กิโลเมตร​ เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเค็มรุกล้ำ​ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี​ โดยจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้วเป็นเป้าหมายคือ  บริเวณอำเภอบางไทร​ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา​ ซึ่งการย้ายจุดสูบน้ำดิบดังกล่าว​ จะเกิดขึ้นในแผน​ ระยะเวลา 3 -​ 5 ปีใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท