นาข้าวเมืองแปดริ้ว 4 หมื่นไร่ยืนต้นตาย ย้ำเตือนขาดน้ำไม่ฟัง

นาข้าวเมืองแปดริ้ว 4 หมื่นไร่ยืนต้นตาย ย้ำเตือนขาดน้ำไม่ฟัง

"นอภ.เมืองแปดริ้ว" เผยนาข้าว 4 หมื่นไร่ยืนต้นตาย หลังพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำหนักสุดกว่าในทุกอำเภอ จนต้องใช้น้ำกร่อยในการผลิตประปา เหตุดื้อดึงไม่ฟังเสียงเตือนจากกรมชลประทานก่อนหน้า ฝืนลงมือทำนอกฤดูกาลจนเต็มพื้นที่

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 63 นายประเทือง อยู่เกษม นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้นำข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ ปลัดอาวุโส ท้องถิ่นอำเภอ ประมงอำเภอ รักษาการณ์เกษตรอำเภอ และตัวแทนจากชลประทาน ตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่บริเวณภายในห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานที่ว่าการ อ.เมืองฉะเชิงเทรา

โดยระบุถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เริ่มขาดแคลนอย่างหนัก และวิกฤตมากที่สุดจากใน 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันต้องสูบนำน้ำเค็มบางส่วนจากทางพื้นที่ตอนบนในจุดที่มีค่าความเค็มประมาณ 1-2 กรัมต่อลิตร จากบริเวณประตูน้ำบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว มาผสมกับน้ำจืดเพื่อผลิตเป็นน้ำประปาให้แก่ประชาชนใช้ ในสภาพของน้ำกร่อยแทน เนื่องจากขาดแคลนน้ำดิบต้นทุน

ขณะเดียวกันในพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ยังมีชาวนาที่ยังคงฝืนทำนาในช่วงฤดูแล้ง โดยที่ไม่ฟังเสียงจากการประกาศเตือนของกรมชลประทาน ที่เคยประกาศเตือนเอาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วช่วงก่อนสิ้นสุดฤดูกาลทำข้าวนาปี จำนวนประมาณ 79,210 หมื่นไร่ โดยเป็นการทำนาแบบต่อเนื่องจำนวน 3 หมื่นไร่เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. 62 หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จในทันที และเพิ่งเริ่มลงมือทำข้าวนาปรังนารอบใหม่ เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ย.62 ที่ผ่านมาประมาณ 4 หมื่นไร่ ต่อมาในช่วงปลายเดือน พ.ย.62 ระดับน้ำในลำคลองสาขาต่างๆ เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลทำให้ นาข้าวในส่วนที่เพิ่งลงมือทำช่วงกลางเดือน พ.ย.62 จำนวน 49,473 ไร่ จะได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้ง ที่เริ่มเข้าขั้นวิกฤตจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โดยที่นาข้าวในส่วนนี้จะมีโอกาสยืนต้นตายสูง และจะไม่ได้ผลผลิตจากการทำนารอบนี้

"เริ่มมีนาข้าวยืนต้นตายแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บางเตย ต.บางกะไห ต.คลองเปรง และ ต.หนามแดง ที่อยู่ปลายน้ำ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ชาวนาที่ฝ่าฝืนการประกาศเดือนจะไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 1,173 บาทต่อไร่หรือเงินชดเชยใดๆ จากทางรัฐบาล เพราะเป็นพื้นที่เคยถูกประกาศให้งดการทำนานอกฤดูกาลจากกรมชลประทานมาก่อนหน้าแล้ว โดยน้ำที่ได้รับมาจากเขื่อนเก็บน้ำทางตอนบน ทั้งเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนขุนด่านปราการชล และน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนบางส่วน เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะถูกนำมาแบ่งใช้ในด้านการอุปโภคบริโภคเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่" นายประเทือง กล่าว

นายปรีชากร พฤกษะวัน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมชลประทานสามารถสูบรับน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้ามายังภายในลำคลองบางขนากได้เพียงเฉพาะในช่วงเวลาน้ำลง ซึ่งมีค่าความเค็มไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตรประมาณวันละ 3-4 ชม. เท่านั้น ในอัตรา 0.47ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยล่าสุดขณะนี้น้ำเค็มได้ขึ้นมาถึงในเขตพื้นที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีแล้ว โดยมีค่าความเค็มสูงถึง 3 กรัมต่อลิตร ที่บริเวณประตูน้ำบางขนากเมื่อช่วงเช้าวันนี้

ด้าน น.ส.ยุวดี ฮวดวิเศษ รักษาการณ์เกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ระบุว่า ขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้ยินยอมและพยามทำใจปล่อยทิ้งนาข้าวได้แล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ยอมรับต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและพยายามที่จะดิ้นหาน้ำเพื่อสู้ต่อไป ขณะบางรายยอมทิ้งนากว่า 50 ไร่ เพื่อรวมน้ำทั้งหมดมาหล่อเลี้ยงแปลงนาเพื่อจะเก็บเกี่ยวไว้ทำข้าวปลูกเพียงจำนวนประมาณ 5 ไร่เท่านั้น

"ที่ผ่านมาทางเกษตรอำเภอได้เคยประกาศเตือนมาก่อนแล้ว ในทุกๆ ปี และได้เคยแนะนำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า แต่ชาวนาจำนวนมากไม่ถนัด และยังเกรงว่าจะไม่มีตลาดรองรับ จึงไม่รู้ว่าหากเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดแล้วจะนำไปขายได้ที่ใด" น.ส.ยุวดี กล่าว