กรมชลประทาน ยันน้ำเพียงพอ 'อุปโภค-บริโภค' ยาวไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง

กรมชลประทาน ยันน้ำเพียงพอ 'อุปโภค-บริโภค' ยาวไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง

“กรมชลประทาน” ยืนยันมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภค-บริโภค ยาวไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง เผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3 เดือนไปจนถึงก.ค. ขณะที่ "สทนช." เรียกประชุมหน่วยงานถกรับมือปัญหาน้ำเค็ม 

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.63 นายทวีศักดิ์​ ธนเดโชพล​ รองอธิบดีกรมชลประทาน​ เปิดเผยว่า​ ฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย​ จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด​ และให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ซึ่งมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภครักษาระบบนิเวศสนับสนุนพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือเกษตรต่อเนื่องบางพื้นที่เท่านั้น โดยยืนยันว่าน้ำปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก​ 4​ แห่ง​ เขื่อนภูมิพล​ เขื่อนสิริกิติ์​ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน​ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีรวมกันอยู่ทั้งหมด 40% จะเพียงพอใช้ได้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง​ เดือนพฤษภาคมปี 2563 ทั้งยังเผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3 เดือน​ จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม​ 2563​ ที่จะมีน้ำเพียงพอ

ทั้งนี้ จากน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก​ ถูกระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร​ แบ่งเป็นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 7 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม 8 ล้านลูกบาศก์เมตร​ และเพื่อการทำเกษตรต่อเนื่องเช่นสวนส้มโอและอื่นๆหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร​ ทั้งยังมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกวันละ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งน้ำลุ่มน้ำแม่กลองยังมีมากเพียงพอที่จะผันมาข่วยลุ่มเจ้าพระยา​ เนื่องจากอิทธิพล​ของพายุ​โพ​ดุล​

ขณะที่การตรวจวัดค่าความเค็มตอนนี้มีสถานีสูบน้ำดิบผลิตประปา​สำแล​ จ.ปทุมธานี​ ยังคงมีความเค็มเกินค่ามาตรฐาน​ แต่จุดวัดความเค็มที่บางไทร​ จ.พระนคร​ศรี​อยุธยา​ ยังปกติ​ สำหรับเกษตรกร​ ได้ขอความร่วมมืองดทำนาปรังและรอให้ฝนตกรอบใหม่จึงจะเริ่มหว่านกล้าทำนาได้ซึ่งถ้าหากตัดสินใจทำในช่วงเวลานี้​ จะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุน​ต้องปล่อยยืนต้นตาย​ เนื่องจากได้จัดลำดับความสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก

ส่วนการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องจักร​ และเครื่องมือเพื่อส่งไปประจำการที่ศูนย์ต่างๆทั่วประเทศ​ มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและอีก 7​ สาขาในทุกภูมิภาคได้แก่จ.เชียงใหม่​ จ.พิษณุโลก​ จ.ขอนแก่น​ จ.นครราชสีมา​ จ.พระนครศรีอยุธยา​ จ.นนทบุรีและจ.สงขลา​ ซึ่งจะกระจายส่งเครื่องจักร​ เครื่องมือจำนวน 4316 ชิ้นแยกเป็นเครื่องสูบน้ำจำนวน 1935 เครื่องสูบน้ำจำนวน 258 คัน​ รถขุดจำนวน 499 คัน​ เรือขุดจำนวน 69 ลำ​ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน​ รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน​ รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน​ และเครื่องจักรสนับสนุน​อื่นๆจำนวน 373 เครื่อง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่