นโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันพุ่งขัดแย้ง ‘สหรัฐ-อิหร่าน’

นโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันพุ่งขัดแย้ง ‘สหรัฐ-อิหร่าน’

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินนโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันพุ่งจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านได้ยกระดับสูงขึ้น หลังการลอบสังหารนายพลกัสเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่านในวันที่ 3 ม.ค. 2563 โดยสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและมีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ยังขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และระยะเวลาที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง โดยการประเมินในเบื้องต้น หากราคาน้ำมันดิบดูไบยืนที่ระดับ 80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 0.75% จากกรณีฐาน กล่าวคือ เงินเฟ้อทั่วไปจะขยับขึ้นมาเป็น 1.15%-1.65% ในขณะที่จะมีผลต่อ GDP ราว -0.08%

157829676113

นอกจากนี้ แรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะลดทอนลง ผ่านการลดลงของเกินดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ดังนั้น บทบาทหลักในการประคองภาวะเศรษฐกิจในจังหวะที่เผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้านจะอยู่ที่การดำเนินนโยบายการคลังเป็นหลัก

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ในตะวันออกกลางรวมถึงระดับราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปยังยากที่จะคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดังกล่าวคงมีน้ำหนักมากพอที่จะมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงไทยให้เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น