'ชวน' คาดอภิปรายงบฯ 3 วัน ยัน ส.ส. ถกสภาได้เต็มที่

'ชวน' คาดอภิปรายงบฯ 3 วัน ยัน ส.ส. ถกสภาได้เต็มที่

ประธานสภาฯ คาดอภิปราย "งบประมาณ 63" ยาว 3 วัน ยัน ส.ส.สามารถถกได้เต็มที่ ส่วนประเด็นส.ว.โดยตำแหน่ง ไม่ใช่รังเกียจผบ.เหล่าทัพ แต่เป็นหลักการปชต.ไม่ควรกำหนดตำแหน่งไว้

สถาบันพระปกเกล้า - นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรอบการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า เบื้องต้นกำหนดการประชุมไว้ 8-9 ม.ค. แต่หากไม่เพียงพอก็สามารถต่อไปในวันที่ 10 ม.ค.ได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะมีการอภิปรายต่อไปจนถึงวันที่ 10 ม.ค. และเชื่อว่าบรรยากาศการอภิปรายงบประมาณในครั้งนี้ จะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามปกติของการพิจารณางบประมาณ ที่ผู้แปรญัตติและผู้สงวนคำแปรญัตติมีสิทธิ์ในการอภิปราย และสามารถอภิปรายได้ในทุกกระทรวง เชื่อว่าจะไม่มีอะไรที่เป็นปัญหารุนแรง ซึ่งในส่วนของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯก็มีหน้าที่ชี้แจงในประเด็นต่างๆ

โดยเฉพาะเหตุผลในการตัดงบประมาณส่วนต่างๆ นายชวนกล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการประสานมา มีเพียงข่าวที่นำเสนอกันเท่านั้น ส่วนการจะเปิดอภิปรายในช่วงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเสนอญัตติของทางพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งการประชุมของสภาฯ ก็จะดำเนินการไปตามปกติ โดยจะมีการประชุมไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2563

นายชวนยังได้กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่อง ส.ว. โดยตำแหน่ง ว่า เรื่องนี้ตนก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะตนไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ในช่วงปีใหม่ แต่ได้เช็คข้อมูลพบว่าเป็นประเด็นเก่าที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเห็นที่ตนเคยให้มาไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้งแล้ว แต่ในช่วงปีใหม่นี้มีการไปตัดมาเพียงแค่ประเด็นนี้ หากต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดขอให้ไปอ่านบทความของจิตรกร ฉบับเมื่อวานนี้ แล้วจะได้เห็นคำสัมภาษณ์เต็มของตน เพราะหากตัดเฉพาะส่วนมาจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าไปรังเกียจทหารหรือไม่ เพราะความเป็นจริงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของหลักการ

“ที่ผ่านมาผมได้ให้สัมภาษณ์ไปว่าไม่ควรไปกำหนดตำแหน่งใด ส่วนทหารหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้นทุกคนก็เป็นคนดี มีความสามารถ แต่ในเชิงประชาธิปไตยนั้นเราไม่ควรกำหนดตำแหน่งใด เช่น หากต้องการให้อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภาเป็น ส.ว. ก็ไม่ควรเขียนกำหนดไว้ และตนเห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญไม่กำหนดให้ข้าราชการเป็น ส.ว. ก็ถูกต้องแล้ว ดังนั้นก็ไม่ควรจะมีการยกเว้นไว้เพียงตำแหน่งใด แต่ทั้งนี้การที่หยิบเฉพาะประเด็นของผู้บัญชาการเหล่าทัพขึ้นมานั้นอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้”

นายชวนกล่าว เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงนักวิชาการสนับสนุนในเรื่องส.ว.โดยตำแหน่ง นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องแน่นอนที่หลักการนี้ไม่เปลี่ยน เราไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยไม่เท่ากับฉบับอื่น ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถทำงานได้ดีหรือไม่นั้น หลังจากมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯแล้ว ตนไม่เคยให้ความเห็นเรื่องเหล่านี้ว่าควรจะแก้ประเด็นใดเพราะต้องให้เกียรติคณะกรรมาธิการฯในการพิจารณาว่าเห็นควรอย่างไร ตนเพียงเสนอว่าทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกัน ด้วยการเชิญมาให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพื่อจะได้ลดความรู้สึกที่ขัดแย้งลงมาบ้าง