สวัสดีปีใหม่ 'ค้าปลีกไทย' จะ 'ชวด' ตามปีชวดหรือไม่!?

สวัสดีปีใหม่ 'ค้าปลีกไทย'  จะ 'ชวด' ตามปีชวดหรือไม่!?

ทิศทางการค้าปลีกไทยจะเป็นอย่างไรในปี 2563 จะแตกต่างจากปี 2562 ที่กำลังซื้อผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ต่ำหรือไม่ และจะมีปัจจัยบวกเข้ามาช่วยหนุนอย่างไรบ้าง

บทความ "สัพเพเหระค้าปลีก" สัปดาห์แรกของปี 2563 หรือ 2020 และเป็นประเพณีที่ทุกต้นปี ต้องคุยกันถึงทิศทางการค้าปลีกจะเป็นอย่างไร? จะ "ชวด" ตามปีนักษัตร "ชวด-หนูทอง" หรือไม่? ผู้เขียนจะพยายามเรียบเรียงให้เห็นภาพ

ในภาพธุรกิจค้าปลีก เราเริ่มต้นปี 2562 ด้วยความหวังว่าค้าปลีกปีนี้จะดีขึ้น! ไตรมาสแรกมีสัญญาณเติบโตขึ้นที่ชัดเจน แต่พอเข้าไตรมาสที่ 2 อาการแผ่วก็เริ่มส่งสัญญาณให้เห็น และส่งผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาสที่ 3 อย่างชัดเจน มาถึงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลฤดูการจับจ่าย สัญญาณการบริโภคอย่างจริงจังกลับไม่เกิดขึ้น บรรยากาศซึมๆ ส่งผลให้...ภาพรวมค้าปลีกปี 2562 กำลังซื้อของผู้บริโภคเติบโต "ต่ำ" กว่าที่ควรเป็น เติบโต 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโต 3.2%  

คาดว่าการเติบโตในปี 2563 น่าจะไม่แตกต่างจากปี 2562 การเติบโตจากนี้ไปจะเป็นการเติบโตจากภาคค้าปลีกภูธรเป็นหลัก เชนค้าปลีกขนาดใหญ่ส่วนกลางทรงตัวหรืออาจจะลดลงเล็กน้อย

การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่ง (Retail Consumption) อ่อนแอลงมาตลอด เป็นเพราะกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่างที่อาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรมีกำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร เติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การเติบโตการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา เติบโตถดถอย จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเคยโต 8-12% เหลือเพียง 3.2%

ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนถาวรเติบโตลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างกล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน สัดส่วนกว่า 40% ของหมวดสินค้าคงทนเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทรงตัว เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ส่วนหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้ายังไม่ฟื้นตัวผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่หดตัวลง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะชะลอตัวมี "4 ความหวัง" หรือ "ปัจจัยบวก" ประกอบด้วย 1.น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังออกมาเพิ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ ที่ยังไม่ถูกลดการทำงาน 2.การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 คาดเริ่มเห็นผลราวปลายเดือน ก.พ. หรือ ต้นเดือน มี.ค.2564 ซึ่งจะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือน ก.ย. เป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้ 

3.นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 หากปรับลดก็จะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา จะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 4.ท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโต จากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน

สำหรับ "4 ข้อกังวล" หรือ "ปัจจัยลบ"  ประกอบด้วย ผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิต, ผลจากภัยแล้งปี 2562, ผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวรอบนี้เป็นวงกว้างและเป็นเวลานาน มีผลต่อชนชั้นกลางและล่างเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของประชากร โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน มีผลต่อ "กำลังซื้อ" ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจต้องเวลานานในการฟื้นฟูกลับมา!!