รองนายกฯ ประวิตร ยัน ปชช. มีน้ำพอใช้ถึง ก.ค.

รองนายกฯ ประวิตร ยัน ปชช. มีน้ำพอใช้ถึง ก.ค.

พลเอก ประวิตร ยืนยัน ช่วงหน้าแล้งนี้ ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค แต่ทำนาปรังไม่ได้ พร้อมเตรียมขุดบ่อบาดาลกว่า 500 บ่อ ใช้งบฉุกเฉิน ประมาณ 3,000 ล้านบาทแก้ปัญหา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งว่า ได้แจ้งล่วงหน้าไปแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะดำเนินการกับน้ำบนดินและน้ำใต้ดินเพื่อมาใช้อุปโภคบริโภค พร้อมยอมรับว่า น้ำสำหรับการเกษตรมีไม่เพียงพอ ทำนาปรังไม่ได้ เนื่องจากน้ำปีนี้น้อยมาก

ตอนนี้พยายามขุดบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศกว่า 500 บ่อ โดยในพื้นที่ กทม.หากมีการขุดบ่อบาดาลจะไม่ทำให้พื้นดินทรุด ซึ่งมีการเตรียมการมาแล้ว โดยจะใช้งบฉุกเฉิน ประมาณ 3,000 ล้านบาท แก้ปัญหาภัยแล้ง

ส่วนพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเหนือและภาคอีสาน

สำหรับการผลักดันน้ำเค็ม ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ลำบาก และมีปัญหากระทบกับน้ำประปา แต่ส่วนอื่นยังพออยู่ได้ อีกทั้งไม่มีน้ำในการที่จะไปไล่น้ำเค็ม

หลังเกิดน้ำเค็มและมีการออกมาเตือนให้ระมัดระวังเรื่องน้ำดื่ม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแนะชาวบ้านไม่ให้ตื่นตระหนกไเพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำอุปโภคบริโภคได้เตรียมแผนรองรับภาวะแล้งฉุกเฉิน ซึ่งคาดการณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม–พฤษภาคม 2563 เพราะเกือบทุกภาคของประเทศไทย จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นและความชื้นต่ำ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น

จากแนวโน้มภัยแล้งดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อให้เกิดภาวะน้ำประปาเค็ม ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติในบางครั้ง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 0.20กรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร

แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน โดยปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ0.1–0.15กรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด

ทั้งนี้ ความเค็มจากน้ำประปาอาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เพราะหากดื่มน้ำประปาที่มีความเค็มจะทำให้ได้รับโซเดียมเพิ่มขึ้นจากปกติได้

“ในช่วงน้ำประปาเค็ม กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย และสำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวด ปิดสนิทแทนจะดีกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

สถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงจากเมื่อวานนี้ โดยอยู่ที่เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัม/ลิตร จนถึง 5.90 กรัมต่อลิตร ณ จุดเฝ้าระวังหลักๆ 4 จุด 

157828764989

157828802870