‘ไทยแอร์เอเชีย’ ดิ้นสู้ดีมานด์แผ่ว คุมต้นทุน-รักษายอดผู้โดยสาร

‘ไทยแอร์เอเชีย’ ดิ้นสู้ดีมานด์แผ่ว คุมต้นทุน-รักษายอดผู้โดยสาร

ธุรกิจ“สายการบิน” เหนือน่านฟ้าไทยคงดีกรีแข่งขันร้อนแรงในปี2563บนสนามที่เต็มไปด้วยขวากหนาม  แม้แต่เจ้าของมาร์เก็ตแชร์อันดับ1ของตลาดเส้นทางบินภายในประเทศอย่าง“ไทยแอร์เอเชีย” ยังต้องปรับเกมสู้ทุกมิติ เพื่อรักษาบัลลังก์สายการบินต้นทุนต่ำในไทย

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ทิศทางธุรกิจของไทยแอร์เอเชียปี2563 เป้าหมายคือ การรักษายอดผู้โดยสาร ให้ได้ตามเป้า คาดเติบโตราว10%เมื่อเทียบกับยอดผู้โดยสารปี2562ที่ผ่านมาซึ่งน่าจะได้ตามเป้าหมาย22.5ล้านคน เป็นอัตราการเติบโตที่ล้อกับการเพิ่มปริมาณที่นั่งบนเครื่องบินในปีนี้10%เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ถือเป็นโจทย์ท้าทายและยากขึ้นมาก โดยขึ้นอยู่กับ 3กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ลดและคุมต้นทุนให้ต่ำ มั่นใจว่าจุดแข็งของไทยแอร์เอเชียคือการเป็นสายการบินที่ต้นทุนต่ำที่สุด สอดคล้องกับนิยามของสายการบินต้นทุนต่ำที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำ เพื่อทำราคาตั๋วโดยสารแบบประหยัดและสามารถแข่งขันได้ มุ่งรักษาฐานผู้โดยสารและอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เพื่อหารายได้เสริมเพิ่มนอกเหนือจากการขายตั๋ว เช่น รายได้จากการเก็บค่าโหลดน้ำหนักสัมภาระ และรายได้จากการขายอาหารกับเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน หวังขยับสัดส่วนรายได้เสริม จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ18-19%ไปให้ถึง20%ในปีนี้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาวคือ25%ของรายได้ทั้งหมด

และบริหารเครือข่ายเส้นทางบินอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็มีการเปิดเส้นทางบินที่ประสบความสำเร็จและมีบ้างที่พลาด แต่สิ่งสำคัญคือการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เส้นทางหรือเที่ยวบินไหนไม่ทำกำไรก็ต้องตัดใจปิด ไปเปิดเส้นทางบินใหม่ที่มีศักยภาพแทน

สำหรับเส้นทางบินใหม่ในปี2563ไทยแอร์เอเชียมองว่าต้องเชื่อมไปยัง3พื้นที่น่าสนใจในเอเชีย โดยเฉพาะตามเมืองรองต่างๆ ได้แก่กลุ่มประเทศCLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นตลาดดาวรุ่งของภาคท่องเที่ยวไทย,อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อย่างฟิลิปปินส์น่าสนใจตรงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Via)ค่อนข้างดี และอินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีโอกาสดี รายได้ต่อหัวสูง แต่ต้องเข้าไปทำตลาดอย่างระมัดระวัง

ขณะที่แผนการรับเครื่องบินใหม่ในปีนี้ จะเป็นการปรับไปใช้เครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอ321 ซึ่งมีปริมาณที่นั่งกว่า230ที่นั่ง อีกจำนวน2ลำ หลังจากปีที่แล้วรับมา2ลำ รวมเป็น4ลำ เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินเก่า แอร์บัส เอ320ขนาด180ที่นั่ง จำนวน5ลำ ทำให้ภาพรวมฝูงบินของไทยแอร์เอเชียในปีนี้อยู่ที่62ลำเท่าเดิม

“ความท้าทายของธุรกิจสายการบินในปี2563ไทยแอร์เอเชียมองว่า ถ้าดีมานด์นักท่องเที่ยวกลับมาดี จะช่วยชดเชยส่วนต่างของรายได้ที่หายไปจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่าได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าดีมานด์นั้นสัมพันธ์กับค่าเงิน เมื่อบาทแข็งค่าก็ทำให้การมาเที่ยวประเทศไทยแพงขึ้น"

เห็นผลกระทบชัดในตลาดหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีน ตอนนี้เขาแลกเงินได้น้อยลง ทำให้ต้องใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น15-20%และส่งผลต่อการขายตั๋วโดยสารของไทยแอร์เอเชียโดยตรง สมมติจากเดิมขายตั๋วแก่นักท่องเที่ยวจีน300หยวน คิดกลับมาเป็นเงินไทยได้1,500บาท แต่วันนี้ขายตั๋วราคาเท่าเดิม300หยวน แต่ได้เงินไทยแค่900-1,000บาทเท่านั้นรายได้ส่วนหนึ่งจึงหายไปจาก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สร้างแรงกดดันต่อรายได้จากการขายตั๋วโดยสารแก่ตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลก ก็ส่งผลต่อ ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไม่อาจหลบพ้น หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยช่วง9เดือนแรกของปี2562เติบโตเพียง4%โดยนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีขนาดใหญ่สุดครองสัดส่วนกว่า30%ของจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด เติบโตแค่2%เท่านั้น จากปกติเติบโต10%ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกซึ่งครองสัดส่วน20%หายไป2%ทำให้ในปีนี้ไทยแอร์เอเชียยังต้องทำโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มของธุรกิจจองสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA)ต่างๆ

ส่วนปัจจัย “ราคาน้ำมัน” แต่ที่น่าห่วงคือผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่ส่งผลต่อต้นทุนของสายการบินโลว์คอสต์หากรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการหั่นภาษีตัวนี้ลง ก็จะทำให้ธุรกิจสายการบินมีแรงที่จะบินต่อไปในปี2563!