นับหนึ่ง งดใช้ถุงพลาสติก I Green Pulse

นับหนึ่ง งดใช้ถุงพลาสติก I Green Pulse

หลังการตายของมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมียอายุประมาณ 6 เดือนที่หลงฝูงและได้รับการอนุบาล ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ก่อนจะพบว่ามีเศษขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งอุดตันลำไส้และมีอาการติดเชื้อ

 กระแสการลด ละ เลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวได้รับการขานรับในสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ในขณะนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้รับลูกต่อด้วยการผลักดันจนเกิดเป็นแคมเปญรณรงค์ครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ “Everyday Say No to Plastic Bags” ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

แต่ด้วยสเกลของปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก, แม้แคมเปญของ รมว. ทส. วราวุธ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา โดยผู้คนจำนวนมากและห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อชั้นนำของประเทศเกือบทั้งหมดพร้อมใจกันร่วมรณรงค์ในครั้งนี้, การกำจัดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนและไปไกลมากกว่าการทำแคมเปญ ยังเป็นคำถามที่ท้าทายกระทรวงที่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง ทส.

หลังการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง, แคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ของนายวราวุธ ได้รับการขานรับและเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ จากการตอบรับของห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังกว่า 75 แบรนด์ที่เข้าร่วมในโครงการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วใช้ครั้งเดียวในร้านค้าภายใต้แบรนด์ของตนไม่ว่าจะเป็น 7-11, Tops, Tesco Lotus, และอื่นๆ

และก่อนหน้าวันดีเดย์การงดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม, พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นประธานเปิดงานร่วมนับถอยหลัง “Sevenday Say Goodbye To Plastic Bags” ณ ศูนย์การค้าดังใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ครั้งใหญ่อีกครั้งก่อนที่จะมีการเริ่มการงดแจกถุงพลาสติก

โดยนายประวิตรกล่าวว่า การรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกในครั้งนี้ “ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่แสดงถึงพลังความร่วมมือในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน”

157820028764

13,500 ล้านใบ

13,500 ล้านใบ คือตัวเลขที่ถูกระบุโดย ทส. ว่า เป็นจำนวนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวที่มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 16,300 แห่งทั่วประเทศ หรือราว 30% ของจำนวนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว 45,000 ล้านใบที่ถูกใช้ในแต่ละปี

จึงไม่น่าแปลกใจที่แคมเปญรณรงค์ในครั้งนี้ได้รับความสำคัญและถูกผลักดันอย่างจริงจังจาก ทส. เพราะหากสำเร็จ นั่นหมายถึง จำนวนขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวซึ่งเป็นขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่ถูกทิ้งในแต่ละปี จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งในประเทศในแต่ละปีมีอยู่ราว 2 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ12% ของปริมาณขยะรวมราว28 ล้านตันโดยมีเพียง 500,000 ตันของขยะพลาสติกที่ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ ในขณะที่ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวถูกพบตกค้างในสิ่งแวดล้อมและมีเป็นจำนวนมากที่ไหลลงสู่ท้องทะเล สร้างมลพิษให้กับทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเล

สำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมแคมเปญ ต่างเตรียมตัวรับกิจกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาทิ ร้าน 7-11 ที่มีศิลปินดัง ตูน บอดี้ สแลมมาช่วยทำแคมเปญรณรงค์งดใช้ถุงหิ้วพลาสติก หรือห้าง Tops และ Villa Market ที่ต่างเตรียมถุงผ้าพร้อมขาย หรือถุงพลาสติกพร้อมขายเพื่อนำเงินสมทบทุนบริจาคตามโรงพยาบาลต่างๆ สำหรับลูกค้าที่ยังไม่ได้นำถุงผ้ามาเอง 

ลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการออนไลน์ถึงการเตรียมตัวของเทสโก้ ที่มีทางเลือกในการให้บริการจำหน่ายถุงผ้า และ “ถุงคืนชีพ” ซึ่งเป็นถุงพลาสติกแบบหนาผลิตจากส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งสำหรับลูกค้าที่ยังไม่ได้นำถุงผ้ามาเอง

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว โดยเฉพาะถุงก๊อบแก๊บ มีถึง 1/3 ที่มีแหล่งมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อเหล่านี้ ก่อนจะกระจายไปสู่ระบบฝังกลบ ซึ่งทุกวันนี้ที่ฝังกลบจะเต็มหมดแล้วทุกเทศบาล หรือหากจะนำไปเผา ก็ก่อมลพิษ หรือจะนำไปทำพลังงานก็ยุ่งยากเพราะไม่มีการคัดแยกขยะที่ดีพอ

ศศินเห็นด้วยว่าการพยายามลดการใช้ถุงพลาสติกในเซ็คเตอร์นี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเพราะมีความง่ายมากที่สุด

เขมองว่าการลดจำนวนถุงพลาสติกในส่วนของร้านขายของชำตามชุมชนต่างๆอาจทำได้ยากกว่า ซึ่งมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามเช่นกัน แต่ถ้าห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ทำได้ เขามองว่า การขอความร่วมมือจากร้านขายของชำก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ศศินมองว่า ส่วนที่ยากที่สุดคือการใช้ถุงพลาสติกในตลาด ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่หากการลดการใช้ถุงพลาสติกจากห้างฯ ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำสำเร็จ นั่นหมายถึง การลดการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวมากกว่าครึ่ง ซึ่งมีนัยยะสำคัญและส่งผลต่อศักยภาพในการกำจัดส่วนที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม ศศินมองว่า งานรณรงค์ต้องทำควบคู่ไปการสร้างองค์ความรู้ ดังนั้น การรณรงค์ที่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ เขามองว่า รัฐยังมีงานต่อเนื่องในการกำจัดขยะพลาสติก รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ และการสร้างกระบวนการรีไซเคิลอย่างครบวงจรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนขึ้น

“การรณรงค์ในครั้งนี้ คือการลดสิ่งที่รีไซเคิลยาก และก่อปัญหามาก คือ ถุงก๊อบแก๊บ ปัญหาขยะพลาสติกอื่นๆ เราก็แก้กันไปตามโรดแมพ ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำต่อไป” นายศศินกล่าว

กรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์แก้ปัญหามลพิษทั่วโลก ได้ระบุว่า การลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะในภาคส่วนของการผลิตและอุตสาหกรรมจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ยั่งยืนได้ แคมเปญรณรงค์แก้ปัญหาขยะพลาสติกของกรีนพีซจึงมุ่งไปที่ธุรกิจและบริษัทขนาดใหญ่ในเวลานี้ และในส่วนของผู้บริโภค กรีนพีซได้พยายามทำแคมเปญรณรงค์การรีฟิลผลิตภัณฑ์ด้วยอีกทาง

รมว. ทส. วราวุธ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล

เขายังได้กล่าวถึงการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลศึกษาและจัดำร่างกฎหมายในโอกาสต่อไป ซึ่งในโรดแมพการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ได้ระบุว่า ระเบียบกฎหมายยังเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในกระบวนการจัดการปัญหา ตั้งแต่ในภาคการผลิตจนถึงหลังการบริโภค