วิบากการเมืองปี 63 สั่นคลอน 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน'

วิบากการเมืองปี 63 สั่นคลอน 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน'

การเมืองปี 2563 คาดการณ์กันว่า จะร้อนแรง เข้มข้น ทั้ง “ขั้วรัฐบาล” และ “ขั้วฝ่ายค้าน” ต่างจะงัดสารพัดวิธีมาตอบโต้กัน อยู่ที่จังหวะไหนใครรับ จังหวะไหนใครรุก แล้วใครจะเพลี่ยงพล้ำก่อนกัน

  • ศึกในสภา

เปิดฉากแค่ต้นปีวันที่ 8-9 ม.ค. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมสภา เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ วาระ 2 และวาระ 3 กระทรวงกลาโหม ถูกล็อกเป้าถล่มแบบจัดหนัก หลังกมธ.หั่นงบทิ้ง 1.5 พันล้านบาท พร้อมส่ง 9 ข้อเสนอ ให้เป็นแนวทางจัดทำงบ

ส่วนกระทรวงอื่น “ขั้วฝ่ายค้าน” อาจจะปล่อยผ่าน เพราะหากเล่นเกมถ่วงมากนัก กระแสอาจตีกลับได้ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้ามามากแล้ว จึงต้องรีบปิดจ็อบให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมหมากวางเกมขย่มรัฐบาลต่อ

ต่อด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยหัวหอกคนใหม่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กางไทม์มิ่งเอาไว้ว่า จะยื่นญัตติในวันที่ 10 ม.ค. ส่วนตัวบุคคลที่จะถูกซักฟอกขอปิดไว้ก่อน แต่แย้มว่าให้รอหลังตรุษจีน (25 ม.ค.)

เป้าหลักที่ถูกซักฟอกหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม โดยเฉพาะกรณีที่ “บิดา พล.อ.ประยุทธ์” ขายที่ดิน 600 ล้านบาท ให้กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ทั้งที่มีราคาประเมินเพียงแค่ 197 ล้านบาท จนถูกนำมาเชื่อมโยงกับการต่อสัญญาให้ “กลุ่มเสี่ยเจริญ” เช่าที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ออกไปอีก 50 ปี

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มคิกออฟด้วยการตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งเก้าอี้ประธาน จากนี้ติดตามว่าจะกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในรูปแบบใด จะแก้ไขเปิดทางให้แก้ไขทั้งฉบับ โดยการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมา ตามที่ขั้วฝ่ายค้านเรียกร้อง หรือจะแก้รายมาตรา ตามที่ขั้วรัฐบาลตั้งธงเอาไว้

  • ยุบพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนศึกซักฟอก ต้องมารอลุ้นคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ม.ค.กรณีคำร้องของ “ณฐพร โตประยูร” ขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ “คดีอะลูมินาติ” กรณีหัวหน้าพรรค เลขาพรรค และกรรมการบริหารพรรคใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่ “ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค ปล่อยกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ด้วย ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญให้ส่งคำชี้แจงภาย 15 วัน โดยจะครบกำหนดวันที่ 9 ม.ค.นี้

และ “ธนาธร” ยังต้องลุ้นคดีอาญาอีกช็อต หลัง กกต.ฟันซ้ำดาบสองคดีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จนศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง เพราะการถือหุ้นสื่อ ขัดกับรัฐธรรมนูญ หากถูกพิจารณาให้มีความผิดทางอาญา กรณีรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงรับสมัคร ส.ส.และลงนามให้ผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ลงสมัคร อาจจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

อนาคตของพรรคอนาคตใหม่จึงต้องลุ้นกันหลายช็อต เพราะอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงเหลือเกินที่จะถูก “ยุบพรรค”

  • คดีส.ส.ถือหุ้นสื่อ

ผลจากคดีถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร” ทำให้ “ขั้วรัฐบาล” และ “ขั้วฝ่ายค้าน” ต่างยื่นให้ประธานสภาพิจารณา ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ก่อนส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคดีไว้วินิจฉัย 64 คน แบ่งเป็นรัฐบาล 32 คน ฝ่ายค้าน 32 คน

มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในล็อตเดียวกัน ต้องรอลุ้นว่า ส.ส.“ขั้วรัฐบาล” หรือ “ขั้วฝ่ายค้าน” จะหายไปมากน้อยแค่ไหน หาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกตัดสิทธิ์ก็ไร้ปัญหา แค่ขยับลำดับถนัดไปขึ้นมา แต่หาก ส.ส.เขต ถูกตัดสิทธิ์ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องวัดกำลังกันอีกหลายยก

  • เสียงส.ส.ในสภา

จากเสียงจำนวนเสียง ส.ส. “ขั้วรัฐบาล” 255 เสียง “ขั้วฝ่ายค้าน” 245 เสียง ทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ” ประสบปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง มาวันนี้จำนวนเสียง “ขั้วรัฐบาล” เริ่มทิ้งห่าง

เริ่มจาก “ไชยา สะสมทรัพย์” พรรคชาติไทยพัฒนา ชนะเลือกตั้งซ่อม เขต 5 จ.นครปฐม ต่อด้วย “สมศักดิ์ คุณเงิน” พรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งซ่อม เขต 7 จ.ขอนแก่น เติมเสียงให้ “ขั้วรัฐบาล”

และที่สำคัญพรรคอนาคตใหม่ มีมติขับ 4 ส.ส. พ้นพรรค ประกอบด้วย “ศรีนวล บุญลือ” ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย “กวินนาถ ตาคีย์” ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท ส่วน “จารึก ศรีอ่อน” และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี แม้จะยังไร้สังกัด แต่อยู่ร่วมกับ “ขั้วรัฐบาล” อย่างแน่นอน

ทำให้จำนวนเสียง ส.ส. ในสภาตอนนี้อยู่ที่ “ขั้วรัฐบาล” 264 เสียง “ขั้วฝ่ายค้าน” 235 เสียง จากที่เคยโดนหยันว่า เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ตอนนี้พลิกสถานการณ์กลายเป็น “รัฐบาลเสียงเหนือน้ำ” ขึ้นมาทันที

  • ศึกนอกสภา

แม้ “บิ๊กรัฐบาล” จะไม่ปรารถนาให้มี “ม็อบบนถนน” แต่ในปี 2563 คงยากที่จะต้านทานได้ เปิดหัวเดือนแรกของปี ก็เริ่มด้วยกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” นำโดย “ธนวัฒน์ วงค์ไชย” อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับ พรรคอนาคตใหม่ แต่ถูกเชื่อมโยงจากการจัดกิจกรรมหลายครั้งที่ “ธนวัฒน์” มักจะเข้าร่วมด้วย

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ผ่านกระบวนการคิดแคมเปญมาอย่างดี สื่อนัยขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มักเรียกตัวเองว่า “ลุงตู่” และที่สำคัญแปลงกายมาจากการจัด “แฟลชม็อบ” ของ “ธนาธร” ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกฟ้องร้อง ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมที่สาธารณะ หากปรับจากการชุมนุมมาเป็นการวิ่งคงยากที่จะเอาผิด แถมยังสะสม “มวลชน-แฟนคลับ” ได้อีกไม่น้อย

หากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จะมีการต่อยอดจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อีกหลายครั้งอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังต้องพบกับสารพัดม็อบ ที่เตรียมเข้ามาชุมนุม โดยเฉพาะ “ม็อบปากท้อง” หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ บรรดา“เอ็นจีโอ-ผู้ประกอบการ” เตรียมขนม็อบเข้ามาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือพืชผลทางการเกษตรให้ได้ตามที่ต้องการ

  • ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น

ในปี 2563 คงได้เห็นการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นกันทุกระดับทั้งประเทศ โดยจะเริ่มที่การเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” ที่พรรคพลังประชารัฐ ต้องวัดกำลังกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ แต่มีพรรคเพื่อไทยแบ็คอัพ ซึ่งสนาม กทม.จะชี้วัดความนิยมของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน

ขณะที่สนามเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ นายก อบจ. บรรดาพรรคการเมืองกำลังอยู่ในช่วงคัดเลือกตัวผู้สมัคร ขณะที่หลายจังหวัดก็เริ่มเดินสายหาเสียงกันแล้ว เพื่อตระเตรียมคะแนนเสียงเอาไว้สู้ศึก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการจัดการเลือกตั้ง นายกอบจ. ไม่เกินกลางปีนี้

  • เปลี่ยน ผบ.เหล่าทัพ

ช่วงเดือน ก.ย. จะมีการจัดทัพ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” ใหม่ยกชุด กำลังรบที่ร่วมเคียงบ่า-เคียงไหล่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเกษียณอายุราชการครบทุกตำแหน่ง ฉะนั้นการวางกำลังครั้งนี้ อำนาจยังอยู่ในมือ“พี่น้อง 3 ป.”

1. “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เกษียณอายุราชการ มี “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นแคนดิเดต

2. “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร..) เกษียณอายุราชการ มี พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รอง ผบ.ทร.เป็นแคนดิเดต

3. พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เกษียณอายุราชการ มี พล.อ.อ.สุทธิพันธุ์ ต่ายทอง เสนาธิการ ทอ. เป็นแคนดิเดต

4. พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เกษียณอายุราชการ มี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทหารบก เป็นแคนดิเดต

5. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เกษียณอายุราชการ มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นแคนดิเดต

เมื่อเก้าอี้ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” 5 ตำแหน่งจะต้องปรับเปลี่ยน จึงต้องจับตาว่า “ใคร” จะเข้ามาช่วยค้ำยันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และจะมีประสิทธิภาพเหมือน “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” ที่จะเกษียณอายุราชการหรือไม่

ทั้งหมดคือวิบากการเมืองไทยที่ต้องเผชิญในห้วงปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และกระทบไปถึง “โรดแมพประเทศไทย”... ต้องลุ้นกันว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อได้ยาวนานแค่ไหน!