‘ไฟป่าออสเตรเลีย’ มหันตภัยไร้จุดจบ

‘ไฟป่าออสเตรเลีย’ มหันตภัยไร้จุดจบ

ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับไฟป่ารุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะได้ภัยแล้งมาซ้ำเติมวิกฤติเปลวไฟลุกลามกินพื้นที่กว้างขวาง กลายเป็นภัยพิบัติที่ตัวเลขน่าตกใจในทุกมิติ

ขนาด

ขนาดของไฟครอบคลุมพื้นที่ 60,000 ตารางกิโลเมตร สองเท่าของประเทศเบลเยียม เผาไหม้กระจายไปทั่วประเทศ เปรียบเทียบกับไฟป่าอเมซอนเมื่อเดือน ส.ค. ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 25,000 ตารางกิโลเมตรหรือไฟป่าแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2561 ที่ถือเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในฤดูไฟป่า กินพื้นที่เกือบ 8,000 ตารางกิโลเมตร

ผู้เสียชีวิต

ไฟป่ารอบนี้คร่าชีวิตประชาชนไปราว 23 คน รัฐนิวเซาท์เวลส์ที่มีประชากรมากที่สุด มีผู้สังเวยชีวิตให้กับไฟ 17 คน

แม้แต่สัตว์ป่าก็ต้องเผชิญชะตากรรมไม่แพ้กัน ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ระบุว่า เฉพาะรัฐนิวเซาท์เวลส์รัฐเดียวสัตว์ป่าตายประมาณ 480 ล้านตัว ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่า ยอดสัตว์ป่าตายอาจสูงกว่าที่ประเมินไว้มาก

บ้านเรือนเสียหาย

นับถึงวานนี้ (4 ม.ค.) บ้านเรือนเสียหายไปแล้วกว่า 1,500 หลัง แต่ทางการเตือนว่า ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากไฟป่ายังเผาผลาญไม่หยุด ทุกเมืองในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรียที่อยู่ใกล้เคียง ถูกไฟเผาในวันส่งท้ายปี

นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลไฟป่าในเดือน ก.ย. อาสาสมัครดับเพลิงหลายพันคนต้องระดมกำลังดับไฟ รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียเผยว่า วานนี้รัฐบาลต้องเรียกทหารกองหนุนมากถึง 3,000 นาย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ เตรียมความพร้อมรับมือไฟ

สภาพแวดล้อมรุนแรง

เป็นที่ทราบกันดีว่าออสเตรเลียเป็นประเทศและทวีปหนึ่งที่เสี่ยงเกิดไฟป่ามากที่สุดในโลก ซึ่งไฟป่าก็เกิดขึ้นบ่อยในฤดูร้อนโดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ แต่ออสเตรเลียอยู่ในช่วงอากาศร้อนแล้งเป็นเวลานาน กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ทวีปนี้อุ่นขึ้นราว 1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี 2453 ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.2561 อากาศแห้งแล้งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2445 และร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

157815779174

มิหนำซ้ำพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียยังเจอภัยแล้งรุนแรงและยืดเยื้อ ฝนไม่ตกมานาน ประกอบกับลมแรงในฤดูไฟป่าช่วยโหมกระพือไฟลุกลามเป็นวงกว้าง

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุให้อากาศร้อนและแห้งแล้งยิ่งขึ้น ส่งผลให้ฤดูไฟป่ายาวนานและรุนแรงกว่าเดิม

ไฟมรณะในอดีต

หากย้อนไปในอดีต ปี 2552 ออสเตรเลียเกิดไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดที่รัฐวิกตอเรีย เรียกว่า “แบล็กแซทเทอร์เดย์” ประชาชนเสียชีวิต 173 คน

ก่อนหน้านั้นรัฐวิกตอเรียและเซาท์ออสเตรเลียที่อยู่ใกล้เคียงเคยเกิดไฟป่า “แอชเวนส์เดย์” เมื่อปี 2526 ประชาชนเสียชีวิตราว 75 คน ขณะที่ไฟป่าแบล็กฟรายเดย์ในรัฐวิกตอเรียคร่าชีวิตประชาชน 71 คน

ท่ามกลางไฟมรณะที่ทั้งคนและสัตว์ต่างต้องหนีเอาชีวิตรอด เบ็ก วินเตอร์ ชาวเมืองโมรูยา เล่าถึงบรรยากาศหนีไฟเมื่อวันส่งท้ายปีเก่า (31 ธ.ค.) ที่เธอต้องฝากชีวิตไว้กับเจ้าชาร์เมอร์ม้าตัวโปรด

ในวันนั้นวินเตอร์, ไรลีย์ บุตรชาย และญาติอีก 1 คน จับตาไฟป่าที่โหมกระหน่ำอยู่ใกล้เมืองโมรูยา ที่ตังอยู่บริเวณชายฝั่ง ห่างจากนครซิดนีย์ไปทางตอนใต้ราว 250 กิโลเมตร

เมื่อตัดสินใจหนีบุตรชายและญาติใช้วิธีขับรถไปยังชายหาด แต่เธอขี่เจ้าชาร์เมอร์ไปหาที่ปลอดภัย ท่ามกลางควันไฟหนาทึบที่เจ้าตัวถึงกับสติแตก

“ฉันไม่รู้เลยว่าเราขี่ม้าเข้าหาไฟหรือไปไหน เราไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าควันหนามาก ฉันรู้สึกถึงความร้อนโดยไม่รู้ว่ามาจากดวงอาทิตย์หรือจากเปลวไฟ มันน่ากลัวมากแต่ฉันก็เชื่อมั่นในตัวชาร์เมอร์ ว่าจะพาฉันออกไปได้อย่างปลอดภัยแล้วเธอก็ทำได้จริงๆ เธอเป็นฮีโร่ของฉัน” วินเตอร์เล่าวีรกรรมม้า ที่สุดท้ายแล้วมันนำพาเธอไปถึงผับแห่งหนึ่งที่ใช้เป็นศูนย์พักพิงหนีไฟป่า

ด้านสำนักงานดับไฟป่านิวเซาท์เวลส์ (อาร์เอฟเอส) เตือนว่า ไฟบริเวณชายฝั่งได้ทำให้เกิดสภาพอากาศรูปแบบใหม่ ทั้งพายุฝนฟ้าคะนองที่ฝนระเหยไปก่อนตกถึงพื้น และทอร์นาโดที่เกิดจากไฟป่า สภาพอากาศเช่นนี้เกิดขึ้นห่างจากนครซิดนีย์ไปทางใต้ 287 กิโลเมตร อาร์เอฟเอสจึงประกาศเตือนประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ระบุ

“พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดจากไฟป่าก่อตัวขึ้นเหนือไฟเคอร์โรแวน บริเวณขอบตอนเหนือของไฟใกล้เมืองนาวรา นี่เป็นสถานการณ์อันตรายมาก ขอให้ประชาชนจับตาสภาพแวดล้อมให้ดีและเตรียมมาตรการให้เหมาะสม”

สภาพอากาศดังกล่าวเป็นผลจากการก่อตัวของเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส หรือเมฆฝนชนิดพิเศษที่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากแรงยกตัวของกระแสอากาศร้อนที่เกิดจากไฟป่า เมฆชนิดนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จึงอาจเกิดขึ้นบ่อยในออสเตรเลีย

การจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์รวมทั้งซิดนีย์เมืองใหญ่สุดของประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน วานนี้ต้องลุ้นกันว่าไฟฟ้าจะดับหรือไม่ เนื่องไฟป่าไหม้สายส่งทางตอนใต้ของรัฐที่เชื่อมกับรัฐวิกตอเรีย

แมตต์ คีน รัฐมนตรีพลังงานทวีตข้อความแจ้งข่าวแก่ประชาชน พร้อมขอให้ลดการใช้ไฟที่ไม่จำเป็น ปิดเครื่องปั้มน้ำในสระ ปิดไฟที่ไม่ใช้ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องซักผ้าและเครื่องล้างจาน

ภัยธรรมชาติรอบนี้ยังทำให้นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ยกเลิกการเยือนอินเดียและญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ตามที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ม.ค.

วานนี้นายมอร์ริสันหารือกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย และนายเรอิชิโร ทาคาฮาชิ ทูตญี่ปุ่นประจำออสเตรเลีย หารือเรื่องเปลี่ยนกำหนดการ เพื่อตนจะใช้เวลาดังกล่าวแก้ปัญหาวิกฤติไฟป่าในประเทศ

เดิมทีนายกฯ ออสเตรเลียมีกำหนดเดินทางไปอินเดียในวันที่ 12 ม.ค. แล้วเดินทางต่อไปญี่ปุ่นเพื่อหารือกันเน้นประเด็นการป้องกันประเทศ ข่าวกรอง ความมั่นคง และการค้า

ที่ต้องเลื่อนการเยือนเพราะก่อนหน้านี้นายมอร์ริสันเคยถูกวิจารณ์อย่างหนัก ที่ลาพักร้อนพาครอบครัวไปเที่ยวฮาวายเมื่อเดือนธ.ค. ขณะที่เกิดไฟป่าทั่วประเทศต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ย. เขาจึงต้องรีบเดินทางกลับประเทศและขอโทษประชาชน

สถานการณ์ไฟที่รัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรียวานนี้ เจ้าหน้าที่คาดว่าจะควบคุมไม่ได้เนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ประกอบกับลมแรงและเปลี่ยนทิศที่อาจโหมเปลวไฟให้ลุกลามออกไป

สภาพดังกล่าวอาจรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อวันสิ้นปี ที่ไฟเผาผลาญรุนแรง ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหลายพันคนจำเป็นต้องหนีภัยไปอยู่ที่ชายหาด