อนาคต ‘เทรดดีล’ บนชะตากรรมอิหร่าน

อนาคต ‘เทรดดีล’ บนชะตากรรมอิหร่าน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่เป็นประเด็นใหญ่ต่อเนื่องจากปี 2561-2562 กำลังเข้าสู่ภาวะชื่นมื่น หลังทั้งสองฝ่ายเห็นชอบข้อตกลงเฟส 1 เตรียมลงนามกันเร็วๆ นี้ แต่แล้วก็เกิดเรื่องไม่คาดฝัน

เมื่อสหรัฐสังหารนายพลคนดังของอิหร่านในดินแดนอิรัก ซึ่งอิหร่านนั้นมีสัมพันธ์อันดีกับจีน จึงน่าเป็นห่วงว่าเหตุการณ์นี้จะกระทบกับการเจรจาการค้าของสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกหรือไม่

เกิ้ง ฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) กรณีนายพลกาเซ็ม โซไลมานีของอิหร่าน ถูกสหรัฐปลิดชีพในดินแดนอิรัก ระบุ “อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอิรักต้องได้รับความเคารพ และรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคตะวันออกกลางต่อไป จีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสหรัฐ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ อดทนอดกลั้น หลีกเลี่ยงไม่ให้ความตึงเครียดบานปลาย”

จากถ้อยแถลงดังกล่าวเหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลปักกิ่งจะสูญเสียมากในแง่ของเศรษฐกิจ หากทำเกินเลยไปกว่าการวิจารณ์การกระทำของสหรัฐต่ออิหร่าน

“แม้ใกล้ชิดกับอิหร่าน แต่จีนรู้ดีว่าสหรัฐเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และเนื่องจากช่วงนี้รัฐบาลสหรัฐไม่ค่อยชอบใจจีน จีนจึงลังเลมากๆ ที่จะแสดงออกหรือประกาศอะไรออกมา ทั้ง 3 ประเทศไม่มีใครสามารถเปลี่ยนนโยบายการค้าได้เพียงชั่วข้ามคืน” อัดนัน มาซาเร ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี

ทั้งนี้ การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2561 นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับประวัติศาสตร์ ได้ตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับพันธมิตรตะวันตก และถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ขาลงระหว่างวอชิงตันกับเตหะราน

การตัดสินใจครั้งนั้นยังตอกย้ำให้สัมพันธ์ด้านพลังงานและธุรกิจระหว่างจีนกับอิหร่านใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นอีกด้วย ปักกิ่งประกาศไม่เข้าร่วมการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านกับสหรัฐ เดือนที่แล้วจีนและอิหร่านยังซ้อมรบทางทะเลร่วมกันในอ่าวโอมาน

แม้จีนรีบออกมาประณามการเคลื่อนไหวของเพนตากอนในกรุงแบกแดด แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงเปราะบางในช่วงที่ข้อพิพาทการค้าดำเนินอยู่ และทั้งสองฝ่ายไม่มีใครอยากทำลายความคืบหน้าที่เพิ่งเกิดขึ้น

สองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกทำงานหนักตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เจรจาการค้ากันอย่างยากลำบากหลายรอบ ผิดสัญญากันบ้าง และเก็บภาษีตอบโต้กันหลายครั้ง แต่ก็เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงเฟส 1 กันในเดือน ธ.ค.

เคลท วิลเลมส์ อดีตเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวของประธานาธิบดีทรัมป์ และสมาชิกคนสำคัญในสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ มองว่าด้วยการสงบศึกชั่วคราวรอบนี้และมูลค่าการค้ากว่า7 แสนล้านดอลลาร์ จีนไม่สามารถทิ้งข้อตกลงที่ต้องพยายามอย่างหนักและทิ้งตลาดส่งออกรายใหญ่ เพื่อปกป้องอิหร่านไปได้

“ในแง่ผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาการค้า เป็นไปได้ว่าจำกัดมาก ทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือไม่เคยเป็นปัจจัยแท้จริงมาก่อน ซึ่งผมประหลาดใจมาก หากมากลายเป็นปัจจัยสำคัญตอนนี้ ผมเห็นด้วยว่ามีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่จีนมีกับอิหร่าน และผมนึกออกว่าความกังวลนั้นเพิ่มมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันสูงสุดต่อการโจมตีในกรุงแบกแดด อาจมองเห็นไม่ชัดเท่าความสัมพันธ์อันไร้เสถียรภาพกับอิหร่าน หรือเสียงประณามจากจีน

หู สีจิน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในเครือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มักรายงานถึงยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในการเจรจาการค้า กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า การโจมตีของสหรัฐมีความหมายอื่นนอกเหนือไปจากการเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ 

“สหรัฐดูหมิ่นอิหร่านด้วยวิธีนี้เป็นการส่งสารไปถึงเกาหลีเหนือ: ถ้าไม่ใช่เพราะอาวุธนิวเคลียร์ของคุณ เราจะโหดกับคุณมากกว่านี้ ตอนนี้เกาหลีเหนืออาจจะคิดก็ได้ว่า เราอาจเสียอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์”

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ว่า ข้อตกลงการค้าเฟส 1 จะลงนามกันที่ทำเนียบขาว วันที่ 15 ม.ค. หลังจากนั้นเขาจะเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาข้อตกลงเฟส 2