ธุรกิจ 'พลังงาน' เร่งลงทุน รับอานิสงส์บาทแข็ง

ธุรกิจ 'พลังงาน' เร่งลงทุน รับอานิสงส์บาทแข็ง

“สนธิรัตน์” กระตุ้น ปตท.-กฟผ.ฉวยจังหวะเงินบาทแข็งค่า เร่งลงทุน พร้อมชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้น “บี.กริม” ลุยลงทุนก่อสร้าง 7 โรงไฟฟ้า หวังกดต้นทุนลง

สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลส่งสัญญาให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการนำเข้าเครื่องจักรในช่วงนี้จะมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กำชับให้รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้จังหวะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าเร่งรัดโครงการลงทุน 

รวมถึงเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่เป็นเครดิตเทอม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและประเทศในภาพรวม ทำให้ต้นทุนต่ำลง และหากมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นมีความต้องการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็จะส่งผลช่วยให้ค่าเงินอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเบื้องต้น ปตท.คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 นับแสนล้านบาท ขณะที่ กฟผ.มีแผนลงทุนปี 2563 ประมาณ 36,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสายส่งไฟฟ้า 

“การแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่ประชาชนก็จะได้ใช้น้ำมันในราคาถูกลง”

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะเร่งรัดกระตุ้นโครงการลงทุนด้านพลังงานในปี 2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ 700 เมกะวัตต์ จะเกิดเม็ดเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท

รวมถึงเร่งกระตุ้นการใช้ดีเซล บี10 ซึ่งเดือน มี.ค.นี้ จะส่งเสริมพืชเกษตรที่สำคัญ คือ อ้อยและมันสำปะหลัง ผ่านการใช้เอทานอล เพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนด้านพลังงานจะก่อให้เกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

“บี.กริม”เร่งลงทุนช่วงนี้

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทเป็นประโยชน์กับบริษัท ทำให้ต้นทุนการลงทุนโรงไฟฟ้าต่ำลง ซึ่ง บี.กริม จะเร่งลงนามสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพี 7 โครงการ ขนาดโครงการละ 140 เมกะวัตต์ 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ได้ต้นทุนค่าก่อสร้างและการจัดซื้อเครื่องจักรต่ำลง จากปกติใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 8 แสนดอลลาร์ ต่อกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ หรือ ลงทุนราว 112 ล้านดอลลาร์ ต่อโครงการ รวมเม็ดเงินลงทุน 7 โครงการ 800 ล้านดอลลาร์ หรือ 30,000 ล้านบาท

รวมทั้ง โรงไฟฟ้า 7 โครงการดังกล่าว ได้จัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากกลุ่มซีเมนส์ และกลุ่มโตชิบา ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและจะลงนามสัญญาไตรมาส 1 ปีนี้

“คลัง”ยืนยันดูแลค่าบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่จะใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยกระทรวงการคลังมีหน้าที่ให้ข้อมูลเศรษฐกิจและผลกระทบจากค่าเงินบาทค่าผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาเสถียรภาพการเงินที่จะตั้งขึ้น 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด

“เรื่องค่าเงินบาท เราหารือต่อเนื่องและใกล้ชิด แต่ต้องชัดเจนว่า ขอบเขตรับผิดชอบเป็นอำนาจของ ธปท. ซึ่งเราต้องให้เกียรติเขา แต่การหารือร่วมกัน จะเป็นการสะท้อนแนวคิดของกระทรวงการคลังที่มีต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทได้ เช่น มีผลต่อเอสเอ็มอี หรือภาคอสังหาริมทรัพย์”

รวมทั้งกระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดใช้มาตรการทางภาษีดูแลค่าเงินบาทแข็งค่า สำหรับผลกระทบค่าเงินบาทนั้น มองว่ามี 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งที่มีผลกระทบด้านลบ คือ การส่งออก แต่อีกด้านที่จะเป็นประโยชน์ คือ ด้านการลงทุนที่จะนำเข้าสินค้าในต้นทุนที่ถูกลง