ทำงานยุคใหม่ 'เก่ง' อย่างเดียวไม่พอ 

ทำงานยุคใหม่ 'เก่ง' อย่างเดียวไม่พอ 

ดิสรัปชันแรง ธุรกิจเปลี่ยน คนทำงานต้องปรับ แค่ "เก่ง" หรือมี Hard Skill อย่างเดียวไม่พอ ต้อง Soft Skill ดี และมีประสบการณ์

ในยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” (Digital Disruption) ปฏิเสธไม่ได้ว่า Hard Skill หรือ ความสามารถเฉพาะทาง ความถนัดในวิชาชีพ คือทักษะสำคัญในการทำงานบางส่วนจะถูก AI (artificial intelligence) หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์แขนงหนึ่งที่พยายามจะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดหาเหตุผลได้ เรียนรู้ได้ ทำงานได้คล้ายกับการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ ดำเนินงาน ร่วมกับข้อมูลมหาศาลที่เอื้อต่อการวิเคราะห์ (Big Data) ช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์ เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ที่รวดเร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น และลดปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) และช่วยให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในการสร้างงานอื่น ๆ ที่มีประโยชน์มากกว่างานลักษณะรูทีน (routine)

แม้ปัจจุบัน AI จะไม่ได้เข้ามาแทนที่ทักษะการทำงานของมนุษย์เสียทีเดียว แต่ข่าวคราวการทำงานของ AI ที่นับวันย่ิงเลียนแบบทักษะได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ต้องปรับตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการดิสรัปเหล่านี้ในอนาคต

157805468951

ผลการวิจัยของ "โรเบิร์ต วอลเทอร์ส" ที่ปรึกษาด้านการสรรหาชั้นนำระดับโลกระบุว่า "คนเก่งถือเป็นทรัพยากรที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก และเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าสำหรับบริษัททั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ”

โดยคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการ บริษัท และองค์กรในไทยต้องการจากผู้สมัครงานเป็น อันดับแรกคือความเต็มใจหรือความพร้อมที่เรียนรู้ รองลงมาคือ แรงจูงใจ การมีส่วนร่วม ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้เชิงลึก รวมถึงความสนใจใคร่รู้ ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำงานแล้วประมาณ 85% ได้รับการยอมรับจากทีมว่าเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญ

สอดคล้องกับ มุมมองของ เวโรจน์ ลิ้มจรูญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าความถนัดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอดของคนทำงานในยุคนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นหัวหน้างาน หรือเป็นเด็กจบใหม่ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะที่หลากหลายหรือ Multi Skill กันทั้งนั้น

ทั้งมิติของ “Hard Skill” ที่หมายถึงทักษะทางวิชาการ เช่น ทักษะในการเรียนรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยี ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานในสายวิชาชีพ

ขณะเดียวกันคนทำงานยุคดิจิทัลยังจำเป็นต้อง “Soft Skill” หรือทักษะด้านการบริหารอารมณ์และความคิด เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนมนุษย์ จึงกลายเป็นทักษะที่หลายองค์กรต้องการ 

157805290670

โดย Soft Skill ที่องค์กรในยุคดิจิทัลต้องการจากผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่

  • ทักษะในการสื่อสาร (Communication skill) ในยุคดิจิทัลทุกคนมีอิสระในการสื่อสาร แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะการใช้เครื่องมือคือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงจะนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานที่ดีตามไปด้วย
  • ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical thinking skill) ในยุคที่ข้อมูลไหลบ่า คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะในการจัดระเบียบ วิเคราะห์ และนำข้อมูลจำนวนมากใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วยตัวเอง
  • ทักษะในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง (Change management skill) ทักษะในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถจัดการการทำงาน และความคิด ท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทักษะในการบริหารคน (People management skill) การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล นอกจากการบริหารจัดการทรัพย์กร เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการ “คน” ให้เหมาะสมกับ “งาน” ควบคู่กัน เพื่อนำไปการทำงานที่ดี ไม่ซ้ำซ้อน และเอื้อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในภาพรวมขององค์กรอีกได้ 

157805469051

นอกจากทักษะที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่องค์กรยุคดิจิทัลต้องการคือ “Mindset” (แนวความคิด) หรือมุมมองใหม่ๆ พี่พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น แนวความคิดในการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Mindset) หรือความคิดเชิงธุรกิจ (Commercial Mindset) ที่จะนำไปสู่การต่อยอดการทำงานในมิติอื่นๆ ได้ เพราะการทำงานยุคใหม่ไม่ใช่แค่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ต้องรอบรู้ และสามารถนำความเชี่ยวชาญของตัวเองมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติอื่นๆ ได้ จึงจะเป็นคนทำงานยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และฝ่าแรงดิจิทัล ดิสรัปชันไปได้ 

แค่นั้นยังไม่พอ! "โรเบิร์ต วอลเทอร์ส" ยังมีผลการวิจัยออกมาว่า นอกเหนือจากศักยภาพ Hard Skills และ Soft Skills แล้ว การทำงานในยุคใหม่ยังจำเป็นต้องมี “ประสบการณ์” นำทางมาด้วย เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ของไทย ยังคงมุ่งเป้าพิจารณาเรื่องประสบการณ์ ก่อนการตัดสินจาก “ศักยภาพ” ของผู้มาสมัคร จนอาจกล่าวได้ว่า “เก่งมาจากไหน ก็อาจพ่ายประสบการณ์” 

157805469094

โดยการวิจัยในครั้งนี้ สะท้อนว่าสาเหตุที่องค์กรส่วนใหญ่ในไทยเลือกคนที่ "ประสบการณ์" ก่อนมองเรื่อง “ศักยภาพ” เนื่องจาก

  • องค์กรต้องการพนักงานที่สามารถทำงานได้ทันที 
  • แต่ละตำแหน่งงานเน้นความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง 
  • องค์กรไม่มีเวลา บุคลากร และความเชี่ยวชาญ ในการฝึกอบรมเชิงลึกให้กับพนักงาน
  • เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าพนักงานมีความเหมาะสมกับทีมหรือไม่
  • ต้องใช้เวลา และเป็นการเพิ่มภาระเพื่อฝึกฝนผู้สมัครงาน
  • เชื่อว่าคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสมจะแสดงให้เห็นในที่สุด

จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า การทำงานแบบเดิมไม่ตอบโจทย์สำหรับองค์กรยุคใหม่ อีกต่อไป ฉะนั้น คนวัยทำงานในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดา ทั้งการพัฒนา “ทักษะทางวิชาชีพ (Hard Skill)” ที่สำคัญ  และ “ทักษะการบริหารจัดการแนวความคิด/อารมณ์ (Soft Skill)” พร้อมทั้งพยายามสะสม “ประสบการณ์การทำงาน” ในสายงานที่ตัวเองต้องการจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการทำงานของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น