สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์วันที่ 30 ธันวาคม 2562 - 3 มกราคม 2563

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์วันที่ 30 ธันวาคม 2562 - 3 มกราคม 2563

เงินบาทกลับมาอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นในสัปดาห์แรกของปี 2563

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น หลังธปท. ส่งสัญญาณดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด (หลังจากเงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครึ่งท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางในช่วงสิ้นปี 2562) นอกจากนี้ทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่ขยับอ่อนค่าลงท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นในตะวันออกกลาง ก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินบาทในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

- ในวันศุกร์ (3 ม.ค. 63) เงินบาทอยู่ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ธ.ค. 62)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ตลาดรอติดตาม คือ การพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนในเฟสต่อๆ ไป สถานการณ์ในตะวันออกกลาง การพิจารณาร่างข้อตกลง BREXIT ของรัฐสภาอังกฤษ และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่  ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนธ.ค.  และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ย.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,594.97 จุด เพิ่มขึ้น 1.06% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,445.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.69% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 1.14% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 311.58 จุด 

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงสิ้นปี 2562 ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงหลังกลับมาเปิดปี 2563 ตามแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยมีแรงหนุนจากประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับจีนในวันที่ 15 ม.ค. นี้ และมีแผนจะเดินทางไปเยือนจีนเพื่อเริ่มการเจรจาการค้าในเฟสสอง อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของดัชนีฯ ถูกจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,580 และ 1,565 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,640 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนธ.ค.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค.ของจีน