ปมดราม่า 'ลิซ่า-มูนคาเฟ่' ย้ำปัญหา ลวนลามออนไลน์!

ปมดราม่า 'ลิซ่า-มูนคาเฟ่' ย้ำปัญหา ลวนลามออนไลน์!

เลียให้ล้ม... ครางชื่อผมที... สารพัดข้อความที่คนพิมพ์ไม่คิดอะไร แต่รู้หรือไม่มันคือการลวนลามทางเพศออนไลน์ ที่ร้ายแรงไม่ต่างจากการคุกคามในชีวิตจริง

จากแฮชแท็ก “มูนคาเฟ่ชั้นต่ำ” ที่เกิดจากทางร้านใช้คำความไม่เหมาะสมโปรโมตร้านหลัง “ลิซ่า” ลลิษา มโนบาล สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป BLACKPINK ได้เดินทางไปใช้บริการ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากแฟนคลับ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นการใช้ข้อความละเมิด การแสดงออกทางเพศโดยการใช้ข้อความกล่าวถึงและคุกคามลิซ่า

ในกรณีนี้ เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นค่านิยม "ชายเป็นใหญ่" ที่ตกทอดจากในอดีต โดยแม้ปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับสิทธิสตรีจะเกิดขึ้น และมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชายบางกลุ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดค่านิยมเดิมๆ ได้ โยเฉพาะการเขียนข้อความลงในโซเชียลมีเดียที่นับว่าเป้นเรื่องน่ากังวลเพราะยังไม่มีการเข้มงวดทางกฎหมาย

ขณะที่ พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารก็มองว่าประเด้นนี้ทำให้เห็นถึงวินัยในการใช้เทคโนโลยีของคนบางกลุ่ม ทำให้เกิดความละเลยในการรับผิดชอบต่อสังคม

นิยามของการลวนลามทางเพศคือการกระทำล่วงเกินทางวาจาและทางกาย ทั้งการสัมผัส การมอง การพูดจาแทะโลม การวิพากษ์วิจารณ์สรีระ แม้แต่การหยอกล้อก็เป็นการคุกความทางเพศถ้าทำให้ผู้ถูกกระทำไม่พึงใจ

เมื่อเป็นการลวนลามทางเพศทางอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้ใครๆ ก็เข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ แต่สังคมไทยยังมองข้ามเรื่องนี้อยู่ บางความเห็นบอกว่าการลวนลามทางเพศออนไลน์ไม่มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ถูกกระทำไม่ได้เสื่อมเสียตรงไหน แต่ที่จริง เคยมีกรณีของวัยรุ่นในต่างประเทศที่ถูกลวนลามทางโลกออนไลน์ ที่สามารถทำซ้ำได้ง่ายและแพร่กระจายไปรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดความเครียดและกดดันอย่างหนัก จนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี

โครงการ Stop Cyber Sexual Harassment ในปี 2560 ซึ่งริเริ่มโดย อ.ชีวิน สุนสะธรรม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ได้ทำกิจกรรมรณรงค์ร่วมหยุดการลวนลามทางเพศทางอินเทอร์เน็ต ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยนี้ นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊คชื่อเดียวกับโครงการแล้ว ยังจัดการเสวนาอย่าง “ลวนลามทางเพศผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ภัยเงียบที่ถูกเพิกเฉย” ที่ชวนวิทยากรมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอีกด้วย

การลวนลามทางเพศทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Sexual Harassment) ถือเป็นส่วนย่อยของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Bulling) ซึ่งตอนนี้หลายประเทศตื่นตัวกันมากขึ้น ในเมืองไทยก็มีหลายกรณีของการเหยียดหยาม กลั่นแกล้ง คุกคามด้วยความเห็นหยาบคายร้ายกาจ ซึ่งอาจคึกคะนอง หรือหงายการ์ด “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” แต่ลืมนึกถึงผลเสียที่ตามมา

เมื่อต้องการระบุให้ชัดว่าอะไรบ้างคือการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และพญ.เบญจพร ตันติสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ให้ข้อมูลสรุปได้ว่า

การล่วงละเมิดทางเพศผ่านอินเทอร์เน็ต แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ

1. การเหยียดเพศ การแสดงความเห็นในทางดูถูกเหยียดหยามรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพของผู้อื่น เห็นเป็นเรื่องตลก นำมาล้อเลียนให้อับอาย เช่น สายเหลือง เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ ฯลฯ

2. การลวนลามทางเพศ การแสดงความเห็นเพื่อล่วงละเมิดผู้อื่น รวมถึงการส่งข้อความเกี่ยวกับเรื่องเพศ เชื่อ พูดถึงอวัยวะเพศ เสนอและขอทำกิจกรรมทางเพศกับผู้นั้น เช่น อยากเลียให้ล้ม ฯลฯ

3. การข่มขู่ทางเพศ เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อย คือการกดดันข่มขู่ทางออนไลน์ทั้งกับผู้ถูกกระทำและคนสนิท เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางเพศ การข่มขู่ทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของการเกาะติดชีวิตออนไลน์ของผู้อื่น (Cyberstalking) ซึ่งยังสามารถย่อยการกระทำไปได้อีกคือ Revenge Porn คือการนำรูปโป๊ของเหยื่อมาข่มขู่หรือแก้แค้น กรณีนีพบบ่อย เมื่อผู้หญิงเลิกกับผู้ชาย แล้วผู้ชายนำภาพโป๊ที่เคยถ่ายตอนเป็นแฟนกันมาข่มขู่หรือแก้แค้นผู้หญิง

ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่เราเห็นได้จากข่าว เห็นจากหน้าสื่อสังคมออนไลน์ บางคนอาจพบเจอด้วยตนเอง และไม่ใช่แค่ผู้หญิงหรือเพศที่ 3 เท่านั้น ผู้ชายก็ถูกลวนลามออนไลน์ได้เช่นกัน ตัวอย่างนักเรียนชายหน้าตาดีคนหนึ่งชื่อแท่งทอง ถูกถ่ายภาพมาแชร์ในเฟสบุ๊ค และมีคนล้อเลียนชื่อของเขากับรอยพับนูนตรงเป้ากางเกงในทางลามกจำนวนมาก อย่าคิดว่าผู้ชายจะชอบ เมื่อชีวิตของเขาหลังจากนี้จะผูกติดกับเรื่องนี้ไปตลอด นี่เป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

ผลกระทบของผู้ที่ถูกคุกคาม

คุณหมอเบญจพร บอกว่าแม้การล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์จะไม่ก่อความเสียหายทางกาย แต่ผลกระทบทางจิตใจนั้นมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกคนเข้าถึงสื่อออนไลน์เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แค่เปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมา รูปหรือข้อความล่วงละเมิดนั้นก็พุ่งเข้ามาหา ตามติดไปทุกที่ ไม่เว้นแต่ในบ้าน ในห้องนอนซึ่งควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัย การแพร่กระจายข้ามทวีปได้อย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ผลของการล่วงละเมิดรุนแรง จากที่มีเจ้าทุกข์ 1 คนต่อผู้ล่วงละเมิด 1 คน กลายเป็นหลายร้อย หลายพัน จนถึงหลายแสน การติดตามหาตัวผู้กระทำผิดก็ยาก เพราะคนที่ปิดบังตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นมีมาก การรับมือกับผู้ล่วงละเมิดจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องที่สาหัส แม้แต่ผู้ที่มีวุฒิภาวะก็ต้องใช้สติอย่างแรงกล้า แล้วกับผู้เยาว์ล่ะ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดนั้นวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า สูญเสียความมั่นใจ ทำลายตัวตนถึงขั้นจิตวิญญาณ และถ้าผู้ที่มักถูกล่วงละเมิดคือวัยรุ่นที่ยังไม่มีภูมิต้านทานเท่าผู้ใหญ่ ความทุกข์ทางใจนั้นอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้

เพราะ “ไม่เป็นไร” จึงลวนลาม?

ความแปลกของสังคมไทยที่เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรม “เกรงใจ” แต่กลับมีการคุกคามออนไลน์สูงมาก สังคมที่ “ไม่เป็นไร” กับทุกเรื่อง ก็จะทำให้เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นการล้อเล่น อย่าคิดมาก

มีคำถามว่า คนที่พิมพ์ข้อความลามกหยาบคายแม้แต่กับภาพที่ไม่ยั่วยุเลยสักนิด เขาเป็นคนยังไงกัน? คุณหมอเบญจพรบอกว่า จริงๆ แล้วก็เป็นคนปกติอย่างเราๆ บอกไม่ได้ว่าเขาเป็นคนป่วยทางจิตหรือเปล่า เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีด้านมืด ที่ใครควบคุมเอาไว้ได้ดีกว่ากัน

สังเกตว่าเวลามีความเห็นแย่ๆ จำนวนมาก มักเกิดจากการทำตามกัน ‘คนอื่นยังทำได้ ก็แสดงว่าเป็นเรื่องธรรมดา’ คุณหมอบอกว่านี่คือทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ที่เมื่อเห็นคนอื่นๆ ในสังคมทำ ก็ทำตามๆ กัน ด้วยเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่สังคมยอมรับ จนกว่าจะเกิดกระแสตีกลับ ถึงตอนนั้น ผู้ที่แสดงความเห็นโหดร้ายไป อาจเพิ่งรู้สึกตัว แต่จะไปตามลบความเห็นอย่างไร สิ่งที่ทำไปแล้วก็หยุดไม่ได้ในโลกออนไลน์ เขาผู้นั้นก็จะกลายเป็นฝ่ายรู้สึกผิด เสียใจจากการกระทำชั่ววูบของตัวเอง คุณหมอจึงเห็นว่า ควรสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมถึงผลที่ตามมาของแต่ละการกระทำคืออะไร และทุกคนต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก

ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวโทษความไม่รับผิดชอบของคนในระดับปัจเจก แต่เมื่อมองไปที่โครงสร้างของสังคม จะเห็นว่าสังคมมีส่วนมากในการหล่อหลอมผู้คนที่เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่เป็นไร เป็นเรื่องล้อเล่น เป็นเรื่องตลก ตั้งแต่สื่อกระแสหลักที่มีละคร หรือรายการโทรทัศน์ตลกโปกฮา มีมุกเหยียดเพศ ล้อเลียนรูปร่าง และพฤติกรรมทางเพศกันอย่างเป็นเรื่องธรรมดา พาดหัวในข่าวแบบรุนแรงแฝงการเหยียดที่มีคนคลิกไลค์จำนวนมาก ระดับสังคมการทำงานที่มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ไปจนถึงในระดับครอบครัว ที่ผู้ใหญ่อาจจะพูดเล่นแนวนี้กันเป็นเรื่องปกติ และเมื่อย้อนไปถึงสังคมไทยในซึ่งมีเพศชายเป็นใหญ่ ก็จะทำให้เกิดลักษณะของการมองเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ หรือเปล่า? นี่ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเห็นจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนาก็คิดว่า ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุตสาหกรรมหนังสำหรับผู้ใหญ่โด่งดังมาก แต่กลับมีคดีล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าเมืองไทย ทั้งหมดนี้อาจอยู่ที่โครงสร้างสังคมของไทยที่ยังขาดการเคารพสิทธิของกันและกันต่างหาก ในหลายประเทศที่มีความตระหนักรู้เรื่องสิทธิส่วนบุคคลอย่างมาก ผู้หญิงจะแต่งตัวโป๊หรือมีท่าทีอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะไปพูดจาก้าวล่วง หรือลวนลามได้ ต่างจากสังคมไทยที่เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น นิ้วที่ชี้หาความผิดจะพุ่งไปสู่การแต่งตัวและการวางตัวของผู้หญิงก่อน

เมื่อสังคมไม่ดูแล คนต้องดูแลตัวเอง

นักแสดงสาว ใหม่ - สุคนธวา เกิดนิมิต มองว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะทางอินเทอร์เน็ตหรือทางไหนก็ตาม ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดต้องกลับมาดูที่ตัวเองก่อน เธอเป็นนักแสดงที่มักได้รับบทนางร้ายและมีลุคเซ็กซี่ จึงหนีไม่พ้นการถูกคุกคามทางเพศผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตหลายระดับ ตั้งแต่การแซวเบาๆ ไปจนถึงส่งภาพอวัยวะเพศมาให้ ขอมีเพศสัมพันธ์ ลุกลามไปถึงการติดตามไปถึงที่บ้าน กับคนที่มาคุกคามผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตแรงๆ เธอใช้วิธีเสียบประจาน ขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่สุคนธวาบอกว่าเธอไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ เลย

วิธีของเธอคือต้องดูแลตัวเองก่อน ดูว่าตัวเองแต่งตัวอย่างไร วางตัวอย่างไรกับผู้ชาย แม้เธอจะขายลุคเซ็กซี่ เธอก็ยืนยันว่าทั้งหมดนี้เพื่อธุรกิจของเธอ แต่กับชีวิตส่วนตัวเธอจัดตัวเองว่าเป็นคนหัวโบราณคนหนึ่ง แม้กับงานพิธีกรที่ต้องอ่านข่าวบันเทิง เธอก็ขอเลือกอ่านข่าวที่จะไม่ส่งเสริมการคุกคามทางเพศหรือเหยียดเพศ ทั้งๆ ที่ก็รู้ดีว่าข่าวแบบนั้นขายได้

ไม่ว่าวงเสวนาจะร่วมหาวิธีทางแก้ปัญหานี้อย่างไร สุคนธวาก็ยืนยันว่าเราต้องโทษที่ตัวเองก่อน ต้องดูแลตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปโทษสังคม

อันที่จริงแนวคิดนี้ออกจะเป็นการจำนนต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม เพราะเป็นการผลักภาระไปสู่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิด ไม่ต่างจากมายาคติเรื่องสะพานลอยหรือทางเดิน Sky Walk ที่บอกว่าสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกของคนใช้ถนน แต่จริงๆ นั่นเป็นการยอมแพ้ต่อสิทธิในการเดินถนนของคนเมือง ให้รถยนต์เป็นใหญ่และครอบครองพื้นที่ แม้กระทั่งทางม้าลายยังไม่ปลอดภัย ก็ผลักให้คนขึ้นสะพานลอยกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 รองจากรถยนต์ เช่นเดียวกัน เรื่องนี้กลายเป็นการผลักให้คนยอมจำนนต่อการคุกคาม ล่วงละเมิด ที่จริงเราควรจะหาแนวทางในการสร้างสังคมที่ทุกคนเคารพสิทธิซึ่งกันและกันไม่ใช่หรือ ไม่ว่าผู้หญิงโพสต์ภาพตัวเองใส่ชุดว่ายน้ำ เพศที่ 3 จะรักกับใคร ผู้ชายจะหล่อแท่งทองแค่ไหน ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สง่าผ่าเผยในแบบของตัวเอง ไม่ต้องกลัวใครมาคุกคามลวนลาม

แต่การที่สุคนธวาจะยืนยันความคิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกบ้านก็ปลูกฝังลูกหลานให้ดูแลตัวเองก่อน เพราะสังคม ณ ตอนนี้ ยังไม่สามารถปกป้องเราได้ ความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมจะเป็นการฝันถึงอุดมคติเกินไปหรือเปล่า?

ทำอย่างไรจะจะไปถึงสังคมที่ไม่คุกคามกัน

อ.ชีวินบอกว่าความคิดที่จุดประกายให้ทำโครงการนี้คือ อยากให้คนมองผู้หญิงคนหนึ่งมากกว่าเรื่องเพศ เห็นมากกว่านม ต่อให้ผู้หญิงคนหนึ่งโพสท์ภาพใส่ชุดว่ายน้ำ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความเห็นดีๆ ไม่ดูหมิ่นหรือล่วงละเมิด ฉะนั้น สิ่งที่เขาอยากทำให้เกิดคือการหาแนวทาง “หยุด” การลวนลามผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตที่กำลังเกิดขึ้นมากมาย

หนทางในระยะสั้น คือต้องให้ข้อมูลและสร้างความรู้ในเรื่องการเคารพกันที่ตัวตน ต้องให้ข้อมูลแก่คนใกล้ตัวและสังคมว่า ตอนนี้เริ่มมีกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมา ว่าความผิดทางไซเบอร์มีอะไรบ้าง เช่น การโพสต์ภาพเปลือย การตัดต่อภาพที่ไม่เหมาะสม การคุกคามทางวาจาซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาท เป็นต้น ให้รู้ว่ามีสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่

หนทางในระยะยาว คือการพยายามเปลี่ยนทัศนคติของสังคม คุณหมอเบญจพรเห็นว่าสังคมไทย “ขาดความละเอียดอ่อน” คิดน้อยเกินไป มักมองเห็นว่ามุกตลกประเภทเหยียดเพศ ล้อเลียนเรื่องเพศ เป็นเรื่องปกติ สังคมไทยมีความ “ไม่คิดอะไร” มากเกินไป ขาดความเอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น สรุปรวมคือการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ทั้งในครอบครัว และในระดับสังคมโดยรวม เพื่อให้ทุกคนที่เติบโตมามีมาตรฐานทางความคิดเท่าเทียมกัน

ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง และใช้เวลา ท่ามกลางความย้อนแย้งของสังคมไทย แต่นี่ก็เป็นก้าวแรกที่ได้เริ่มกันแล้ว