ฤดูเก็บเกี่ยว SCI พลิก 'กำไร' ปี 2563

ฤดูเก็บเกี่ยว SCI พลิก 'กำไร' ปี 2563

ขยายลงทุนทั้งในและนอกบ้าน พันธกิจพลิกฟื้น 'เอสซีไอ อีเลคตริค' กลับมาเป็น 'กำไร' อีกครั้ง ! 'เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล' นายใหญ่ แง้มสตอรี่ปี 2563 'ประเทศลาว-เมียนมา' ส่งรายได้เข้ากระเป๋า ด้านตลาดเมืองไทยรุกสู่ธุรกิจรับเหมา

เมื่องาน 'โครงการรับเหมาติดตั้งสายส่งไฟฟ้า' ใน ประเทศลาว รวมทั้งการสยายปีกลงทุน 'โรงงานผลิตเสาส่งแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมและชุบกัลวาไนซ์' ในประเทศเมียนมา ของ บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค หรือ SCI เกิดความล่าช้าของโครงการลงทุนทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถผลักดันฐานะทางการเงินให้เติบโตต่อเนื่องได้

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 162.52 ล้านบาท 20.50 ล้านบาท -45.47 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ -101.49 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 1,969.91 ล้านบาท 1,678.29 ล้านบาท และ 1,306.96 ล้านบาท และไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 801.87 ล้านบาท ตามลำดับ

ทว่าปัญหาดังกล่าวกำลังจะหมดไปแล้ว 'เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค หรือ SCI ยืนยันให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังเช่นนั้น สอดคล้องกับงานโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยใน 'ประเทศลาว' ปัจจุบันก็ได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีรูปแบบการพัฒนาโครงการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงต้นปี 2563

หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมา งานรับเหมาใน สปป.ลาว หยุดรอความชัดเจนของรัฐก่อน จากการปรับโครงสร้างสายส่งเสาไฟฟ้าแรงสูงใหม่ เพื่อจะนำไฟฟ้าจากประเทศลาวไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไทย , เวียดนาม , เมียนมา , กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งเขากำลังเจรจาขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อย ถึงจะกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ในต่างประเทศไม่มีเข้ามา จากเดิมบริษัทมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศคิดเป็น 50% ของรายได้รวม

'คาดว่าการเจรจาน่าจะใช้เวลาเห็นความชัดเจนต้นปีนี้ และการสานต่อโครงการน่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น หากมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20-30% ของงานที่เซ็นสัญญาไปแล้ว 416 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท' 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีเข้าไปลงทุน 'โรงงานผลิตเสาส่งแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมและชุบกัลวาไนซ์' ใน 'ประเทศเมียนมา' เมื่อราว 3 ปีก่อน มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ กำลังการผลิต 'หมื่นตันต่อปี' ซึ่งเมื่อต้นปี 2562 โรงงานดังกล่าวเปิดเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าจำนวนงานที่เข้ามายังไม่เต็มกำลังการผลิตปัจจุบันใช้กำลังผลิตแค่ระดับ 20% เท่านั้น ทำให้บริษัทยังต้องแบกภาระต้นทุน ค่าเสื่อม ดอกเบี้ย และยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ เขาบอกว่า คาดว่าในปี 2563 จำนวนงานในเมียนมาจะเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่บริษัทคาดว่าจะมีงานเข้ามาหลายโปรเจคแต่ในความเป็นจริงพบว่างานดังกล่าวชะลอออกไปหมด ฉะนั้น ในปีนี้คาดว่าในเมียนมาจะมีโปรเจคลงทุนมากขึ้นอีก หลักๆ จะเป็นงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และเสาโทรคมนาคม (เทลคอม) เนื่องจากประเทศเมียนมาอยู่ในช่วงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

รวมทั้ง ในเดือนต.ค. 2562 เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนของภาคเอกชนในต่างประเทศเข้าไปลงทุนในเมียนมา สะท้อนผ่านการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ที่ตอกเสาเข็มนิคมอุตสาหกรรมไปเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภท ถนน ระบบสาธารณูปโภค เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นลำดับแรก และถัดไปจะเป็นช่วงเอกชนลงทุนสร้างโรงงานก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจโครงสร้างเหล็กที่บริษัทให้บริการอยู่

โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ในเมียนมา 200 ล้านบาท และเชื่อว่าบริษัทจะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากโรงงานดังกล่าวอีก โดยงานส่วนใหญ่ของโรงงานในเมียนมาจะเป็นงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และบริการชุบกัลวาไนซ์ (สังกะสี) ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับลูกค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันบริษัทยังเจรจากับพันธมิตรจากจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านรับเหมาก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยเฉพาะ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้งานของโรงงานดังกล่าวมากขึ้นกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรูปแบบของการร่วมมือในครั้งนี้ได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนว่าจะเข้ามาร่วมหรือไม่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างกำลังศึกษาเข้าไปลงทุนธุรกิจรับเหมาใน 'ประเทศกัมพูชา' อีกด้วย หากเขาเปิดประมูลงานบริษัทก็พร้อมเข้าไปลงทุนทันที

'หากทุกอย่างเป็นตามที่คาดไว้ทั้งหมดปี 2563 จะทำให้บริษัทจะมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาอีกครั้งทั้งจากเมียนมา และลาว'

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าต่อว่า สำหรับ 'ธุรกิจในบ้าน' นั้น ปัจจุบันบริษัทมี 'มูลค่างานในมือ' (Backlog) ประมาณ '1,100 ล้านบาท' แบ่งเป็นงานผลิตและจำหน่ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 600-700 ล้านบาท งานตู้สวิทช์บอร์ดรางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ 300-400 ล้านบาท โดยเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป รวมทั้งอยู่ระหว่างการเข้าไปร่วมประมูลงานใหม่อีก โดยเป็นงานเสาส่ง 400-500 ล้านบาท ส่วนงานตู้สวิทช์บอร์ดจะมีเข้ามาอีกหลัก 10 ล้านบาท

ขณะที่ งานเสาสื่อสารโทรคมนาคมงานเทเลคอม ตอนนี้อยู่ระหว่างรอการประมูลเครือข่าย 5G เชื่อว่าหากผู้ประกอบการรายใดประมูลได้ก็ต้องเร่งลงทุน 5G ทันที เพราะว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเสาสื่อสารโทรคมนาคม 5G นั้น จะมีขนาดเล็กและมีความถี่มากกว่าเสาสื่อสาร 3G และ 4G ซึ่งบริษัทสามารถผลิตเสาประเทภดังกล่าวได้

รวมทั้ง ในปีนี้บริษัทจะ 'แตกไลน์' เข้าไปในธุรกิจรับเหมาเมืองไทย จากเดิมที่บริษัททำรับเหมาในต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มต้นเข้าไปประมูลสถานีไฟฟ้าย่อยมูลค่าโปรเจคละ100 ล้านบาท โดยของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปี 2562 มีงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ออกมาประมาณ 20 โครงการ ซึ่งในส่วนของบริษัทตั้งเป้าได้งานประมาณ 2 โครงการ ประมาณ 300 ล้านบาท

ขณะที่ การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนผ่าน บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งก่อตั้งปี 2558 เป็นการร่วมทุนระหว่าง SCI กับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือ PF ในสัดส่วน 45:45 และอีก 10% เป็นนักลงทุนบุคคล เน้นลงทุนด้านไฟฟ้าทดแทน ปัจจุบันเน้นการเข้าลงทุนในโครงการในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน (Private PPA) ที่ปัจจุบันบริษัทติดตั้งโซลาร์รูฟและเริ่มรับรู้รายได้แล้ว 4 เมกะวัตต์ และได้มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าแล้ว 8 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปีนี้ บริษัทวางเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตทั้งหมดให้ครบ 20 เมกะวัตต์ภายในปี 2563

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม รวมไปถึงไบโอแมส และไบโอแก๊ส ด้วย

โดยปัจจุบันบริษัทเตรียมจะประมูล 'โครงการไฟฟ้าพลังงานลม' ซึ่งบริษัททำ 'การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA' เสร็จหมดแล้ว รอเพียงแค่นโยบายของภาครัฐเท่านั้น โดยเป้าหมายกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 80-90 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ คิดเป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท หากบริษัทได้ทำทั้ง 100 เมกะวัตต์ จะใช้เงินกู้ 70%

'เรายังคงมุ่งเน้นการหางานใหม่ๆ ที่เป็นสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าในรูปแบบพลังงานทดแทน รวมไปถึงโครงการด้านน้ำต่าง ๆ โดยในปี 2563 จะเริ่มเห็นความชัดเจนต่าง ๆ ออกมามากขึ้น ซึ่งบริษัทได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ได้'

เขาบอกต่อว่า ตั้งเป้าผลประกอบการปี 2563 พลิกเป็น 'กำไร' อย่างแน่นอน จากแผนการลงทุนต่างๆ ที่เริ่มออกดอกออกผลให้เห็นแล้ว และภาพรวมของบริษัทจะเห็นการเติบโตที่มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการแตกไลน์ธุรกิจไปในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม โดยเชื่อว่าจะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้ต่อเนื่องมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากดูในงบเดี่ยวของ SCI ไม่ได้มีผลขาดทุนแล้ว แต่ในงบรวมยังโดนผลกระทบจากโรงงานในประเทศเมียนมาที่ขาดทุนอยู่ โดยมีทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงค่าเสื่อมโครงการ ซึ่งใน 1 ไตรมาสที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ 20 กว่าล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมางานในเมียนมาไม่เยอะ

'ตอนนี้เรามีการเข้าไปประมูลงานใหม่ๆ ในเมียนมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเรายังอยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตรจากจีนที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มงานให้กับโรงงาน และมีรายได้มากกว่า 200 ล้านบาทที่เราตั้งเป้าหมายไว้' 

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลโครงการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าดิจิทัลร่วมกับพันธมิตรจากประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะมีงานออกมาทั้งหมดมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท จะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ ซึ่งหากได้งานดังกล่าวก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลารับรู้รายได้ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงปลายปีน่าจะมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้น จากงานในมือรอรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้น และบริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานใหม่อีกหลายโครงการ นอกจากนี้งานจากโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และเสาสื่อสารโทรคมนาคม ในประเทศเมียนมา ซึ่งเริ่มเดินเครื่องอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จะหนุนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ท้ายสุด 'เกรียงไกร' บอกไว้ว่า เป้าหมาย 3-5 ปี (2563-2567) สัดส่วนรายได้ธุรกิจผลิตเสาตู้สวิสช์บอร์ด 60% ธุรกิจรับเหมา 30% ธุรกิจ TU 10% (พลังงาน) ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจออกไปในหลากหลายช่องทาง