'ปธ.ฎีกา' บอกโจทย์ยาก ออกข้อกำหนดศาลใช้อำนาจ ปรับบทลงโทษสร้างภาระปชช.

'ปธ.ฎีกา' บอกโจทย์ยาก ออกข้อกำหนดศาลใช้อำนาจ ปรับบทลงโทษสร้างภาระปชช.

"ปธ.ฎีกา" เผย พ.ร.บ.ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายฯ ที่ออกใหม่ ให้อำนาจเสมือนตุลาการภิวัฒน์ รับเรื่องคู่ความวินิจฉัยสั่งปรับบทลงโทษสร้างภาระ ปชช. มีเวลา 2 ปีศึกษาออกข้อกำหนดรองรับ ย้ำศาลระวังให้ความเป็นธรรมคดี ไม่ใช้อำนาจแทนนิติบัญญัติ

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.63 นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ให้ความเห็นถึง "พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562" ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมานี้ ซึ่งความจริงแล้วกฏหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดี เพราะว่ามองย้อนกลับไปเรามีคณะกรรมการปฎิรูปกฏหมายหลายฉบับที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ 2 คณะซึ่งมีความเห็นว่ากฎหมายในประเทศไทยหลายฉบับที่ออกมามันล้าสมัยไปแล้ว เป็นกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายและสร้างภาระให้กับประชาชน ก็พยายามที่จะยกเลิกเพิกถอนกฎหมายเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ปรากฎว่า กระบวนการยกเลิกกฎหมายมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องเอาเข้าไปรัฐสภา

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมามีเรื่องอื่นซึ่งมีลำดับความสำคัญยิ่งกว่าการแแก้ไขกฎหมายเก่าก็ทำให้แนวคิดเรื่องการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยต่างๆ เป็นผลสัมฤทธิ์ได้น้อย

ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่า สนช.ชุดที่แล้วคิดว่าทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือให้ใช้ตุลาการภิวัฒน์เลยโดยกำหนดว่ากฎหมายฉบับใดถ้าออกมาแล้วไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือเป็นกฎหมายที่โดยพฤติการณ์แล้วสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน ก็ให้อำนาจศาลในการที่จะพิจารณา แต่มีข้อจำกัดว่าถ้ามีโทษทางอาญาก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะลงโทษน้อยกว่ากำหนดได้ หรือถ้ามีโทษทางปกครองให้ศาลซึ่งคงเป็นศาลปกครองสามารถจะลงโทษทางปกครองได้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ และให้ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตราการอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการในทางแพ่งให้เบาลงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

โดยในส่วนของศาลยุติธรรมนั้น วิธีการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อศาลเห็นเองหรือคู่ความร้องขอ เช่นว่าเมื่อมีการร้องขอเข้ามา ก็ส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาพิจารณานำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาว่า 

1.กฎหมายนี้ยังจำเป็น หรือสร้างภาระให้กับประชาชนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษหรือ จะเป็นมาตรการต่างๆ  โดยวิธีการนี้บอกได้เลยว่าไม่ง่ายในการทำ เพราะให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่ากฎหมายหมดความจำเป็นขณะที่ศาลเป็นผู้บังคับใช้และตีความกฎหมายดังนั้นศาลอาจจะต้องทำการบ้านเยอะ อาจต้องไปสำรวจความรู้สึก/ความคิดเห็นของสังคมเหมือนกันว่ากฎหมายตัวที่พิจารณานั้นในสายตาชาวบ้านหมดความจำเป็นไปแล้วหรือไม่

"อันนี้คือโจทย์ยากของศาล พอมาบอกว่ากำหนดโทษเบากว่ากฎหมาย หนักไม่ได้ต้องเป็นคุณอย่างเดียว ก็ต้องมาคิดว่าเบาแค่ไหน เพราะพอกำหนดไปแล้วมันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปกับคดีอื่นๆ ทุกคดีหรือไม่ ซึ่งโดยสภาพของคดีอื่นๆ ทั่วไปแต่ละคดีจะมีพฤติการณ์ในการทำความผิด หรือเรื่องต่างๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในคดีไม่เหมือนกัน ถ้าจะกำหนดเหมือนกันทุกเรื่องคิดว่าคงเป็นเรื่องประหลาดเหมือนกัน แต่ถ้าศาลลดโทษให้คดีหนึ่งแล้วจะต้องลดทุกคดีหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นโจทย์ที่ยากหมดเลย มันก็มีโอกาสที่จะเป็นบรรทัดฐานได้"

ประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า คิดว่าเรื่องนี้ถ้าฟังข้อทักท้วงในชั้นที่มีการพิจารณา พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ ก็มีการอภิปรายกันพอสมควรว่าศาลใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งในการที่จะให้ศาลไปใช้อำนาจนิติบัญญัติแล้วเป็นตุลาการภิวัฒน์จะเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ และสิ่งที่ว่านี้ใช่ตุลาการภิวัฒน์จริงหรือไม่ อันนี้ก็มีคำถามเยอะแต่ศาลคงไม่มีหน้าที่จะมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นการล่วงละเมิดของอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็นการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์โดยเหมาะสมหรือไม่ เพราะกฎหมายมอบอำนาจมาให้ทำอย่างนี้แล้ว

แต่อย่างไรก็ดีจากการที่ศาลฎีกาเราได้เคยประชุมกันไปบ้างแล้วเพื่อออกข้อกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ เราก็เห็นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรม แต่เราจะไม่ทำหน้าที่เป็นนิติบัญญัติเองอันนี้ชัดเจน อย่างไรก็ดีในส่วนของข้อบังคับ-กฎระเบียบ ที่จะต้องออกมาตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ ต้องออกภายใน 2 ปี ซึ่งหากยังไม่ออกไม่ได้ภายใน 2 ปี ก็ต้องพิจารณาตามหลักให้ใช้กฎหมายในทางที่เป็นคุณกับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเดียวก่อน เมื่อถามขยายความถึงปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ศาลจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้

นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาที่น่าจะตามมาจากกฎหมายฉบับนี้ คือหากทุกคดียื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยหมดว่ากฎหมายใดๆ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสำนวนนั้นๆ หมดความจำเป็น และสร้างภาระให้กับประชาชน ลองนึกถึงภาพศาลฎีกาต้องประชุมใหญ่ทุกคดีในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อยื่นคำร้องแล้วต้องเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งระหว่างนั้นศาลที่พิจารณาคดีดีงกล่าวอยู่ต้องหยุดการพิพากษาไว้ก่อนแล้วรอผลพิจารณาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ถ้าเป็นอย่างนี้ความหวังที่ว่าคดีจะรวดเร็วทั้งหมดกระบวนการเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งระหว่างนี้เรากำลังพิจารณาทำข้อกำหนดข้อปฏิบัติของศาลเพื่อปฏิบัติตามอำนาจที่ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้กำหนดให้มา ซึ่งเราจะต้องมาพิจารณาจำกัดประเภทของคดีที่เราเห็นว่าจำเป็นจริงๆ และจะต้องไม่ใช่การเปิดโอกาสให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ มาเป็นเครื่องมือในการประวิงคดี ตนยังคิดด้วยซ้ำว่าสมมุติมีคดีอย่างนี้ขึ้นมาจริงๆ ศาลต้องตั้งคณะทำงานฝ่ายวิชาการเข้ามาศึกษาความเป็นมาของกฎหมาย-สภาพการบังคับใช้ของกฎหมาย เพื่อที่จะบอกว่าเอาอะไรมาวัดว่ากฎหมายนั้นหมดความจำเป็น ซึ่งต้องมีคณะทำงานศึกษาจริงจังแล้ว

นอกจากนี้ยังไม่รู้เหมือนกันด้วยว่าเราจะได้เสียงสะท้อนจากภาคส่วนไหนของสังคมบ้าง เพราะกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ด้วยว่าต่อไปเวลาจะยกร่างกฎหมายฉบับใดต้องมีการประเมินผล กระทบของทางกฎหมายทุกฉบับด้วยการสอบถามบุคคลเกี่ยวข้องที่จะต้องได้รับผลกระทบทางกฎหมายนี้ว่าเขารู้สึก/มีความคิดเห็นอย่างไร คล้ายๆ กับการทำ EIA ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมทุกฉบับ เหล่านี้คือโจทย์ยากสำหรับศาล แต่ว่าเข้าใจที่สภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมาเขาต้องการที่จะปลดภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่จะไปอาศัยกลไกทางนิติบัญญัติโดยปกติก็ไม่ก้าวหน้า เขาก็หวังทางฝ่ายตุลาการซึ่งก็คือศาล ก็ต้องขอบคุณเพราะแสดงว่าสถาบันศาลยังเป็นที่ไว้วางใจที่จะให้แก้ความเดือดร้อนกับประชาชน

"ผมก็นึกเล่นๆ นะว่า อย่างนี้ที่รัฐบาลยุคนี้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องกัญชาก็ดี เกี่ยวกับเรื่องสารเสพติดบางประเภทก็ดี มีคำถามว่ากระท่อมที่ชาวบ้านใช้ สมควรจะเป็นสารเสพติดหรือไม่ และมันสร้างภาระให้กับประชาชนจริงไหม เพระว่าถ้าเราไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน เขาออกไปทำงานกรีดยาง เขาก็เคี้ยวกระท่อมก็ไม่เห็นเขาจะสร้างปัญหาอะไรให้กับสังคม สุขภาพเขาก็ไม่ได้เลวร้าย แต่พอเราจะมากำหนดให้เป็นยาเสพติดในบัญชี ก็กลายเป็นความผิดทันทีแล้วอย่างนี้เกินความจำเป็นหรือไม่ หรืออีกอย่างที่น่าคิดเราผ่าน พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน พอวันดีคืนดีมีการประกาศให้ทั้งอำเภออยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน หน่วยงานปฏิรูปที่ดินต้องไปหางบประมาณมาซื้อที่ดินคืนแล้วนำมาปฏิรูปแล้วแจกจ่ายให้กับเกษตกร แต่เอาเงินจากไหน จากวันนั้นถึงวันนี้เป็น 10 ปีที่ดินทั้งอำเภอยังเป็นเขตปฏิรูปที่ดินอยู่โดยที่ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน คำถามกฎหมายอย่างนี้เป็นกฎหมายที่เกินความจำเป็นแล้วสร้างภาระหรือไม่ ผมว่าน่าคิดนะ แค่ตัวอย่างที่ยกมาศาลเองก็ต้องระวัดระวังเพราะเราต้องระลึกว่าเราคืออำนาจตุลาการที่มาถ่วงดุลกันในระบอบประชาธิปไตย 3 อำนาจมันต้องคานกัน” นายไสลเกษ กล่าวตั้งข้อสังเกตุ