NIA เปิดแผนปั้น "200 สตาร์ทอัพชุมชน"

NIA เปิดแผนปั้น "200 สตาร์ทอัพชุมชน"

เอ็นไอเอ เปิดเวทีปั้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ผ่านมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 1,000 แห่ง พร้อมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพคอมมูนิตี้ผ่านย่านนวัตกรรม-พื้นที่สร้างสรรค์ ปักธง "Chiangmai&Co" เป็นต้นแบบแห่งแรก

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆของกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก พร้อมสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่ในระดับอุดมศึกษาไปจนถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยได้ดำเนินงานภายใต้หลักการ 4E ได้แก่ Entrepreneurs หรือการสร้างผู้ประกอบการ Enterprise การสร้างธุรกิจ Equity การสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาค และ Economy การสร้างเศรษฐกิจ

โดยแนวคิดดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพที่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มเกษตรกร ร้านค้าปลีก รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโอทอปประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงและขยายตลาดให้ง่ายและกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ หากสตาร์ทอัพมีการเริ่มต้นที่ภูมิภาคของตัวเองก็จะสามารถต่อยอดเศรษฐกิจให้ก้าวสู่ระดับประเทศและระดับที่สูงขึ้น ( From Local to Global) ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งลดการหลั่งไหลของคนที่จะเข้ามาทำงานในเมืองและกรุงเทพฯ พร้อมช่วยให้กลุ่มดังกล่าวได้มีความสุขอยู่กับครอบครัวและเพิ่มโอกาสการพัฒนาชุมชนได้ต่อไป

157797356662


ที่ผ่านมา NIA ได้มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพในระดับท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆ อาทิ Startup Thailand League ที่เป็นการทำงานร่วมกับ 35 มหาวิทยาลัยชั้นนำ และสถาบันอาชีวศึกษาประมาณ 1,000 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเปิดเวทีให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้วยการนำเสนอแผนธุรกิจและมีผลงานต้นแบบที่น่าสนใจในหลากหลายสาขา เช่น สุขภาพ การท่องเที่ยว ดิจิทัลคอนเทนท์ เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ โครงการ Startup in Residence (SIR) ซึ่งเป็นโครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพในระดับภูมิภาคด้วยการสร้างคอมมูนิตี้และแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ – ไอเดีย และช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ รวมทั้งโครงการพัฒนาผู้ประกอบการภาคใต้ชายแดน ที่เป็นการกระจายโอกาสต่างๆ เช่น เงินทุนสนับสนุน องค์ความรู้ เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและช่องทางการตลาดไปสู่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทำธุรกิจนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เป็นต้น

อีกหนึ่งแนวทางเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคที่สำคัญคือการพัฒนาย่านนวัตกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจให้มารวมตัวกันเพื่อร่วมกันพัฒนาและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ตลอดจนแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนไอเดียเพราะ NIA เชื่อว่าความสำเร็จและการเติบโตที่ดีได้นั้นไม่อาจทำได้เพียงลำพัง การรวมตัวกันจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้แนวคิดดีๆ ได้มีโอกาสส่งต่อไปสู่บุคคลอื่นๆ และนำโมเดลเหล่านั้นไปปรับใช้ในทางธุรกิจได้ โดยในระดับภูมิภาคมีย่านนวัตกรรมที่สำคัญ อาทิ ย่านนวัตกรรมเชียงใหม่ ย่านนวัตกรรมภูเก็ต ย่านนวัตกรรมขอนแก่น ฯลฯ ซึ่งย่านเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร และร่วมกันกำหนดเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมมาพัฒนาเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว การพัฒนานวัตกรรมด้านฟินเทคเพื่อตอบโจทย์กับย่านการค้าหรือร้านอาหาร เป็นต้น

157797358315


ส่วนทางด้านของพื้นที่สร้างสรรค์นั้น NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative Valley) ให้เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค เช่น ใน จ.เชียงใหม่ที่มี Chiangmai&Co ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความร่วมมือและผลักดันระบบนิเวศของสถาร์ทอัพในภาคเหนือที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเป็น Startup Centre สำหรับ เทคสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศให้สามารถดำเนินธุรกิจโดยใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจพร้อมเชื่อมขยายไปทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ที่เชียงใหม่ ที่นับเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการออกแบบและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์อย่างครบวงจรแห่งแรกของภาคเหนือตอนบน พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้ประกอบการ นักศึกษา และยังเป็นศูนย์รวมของสตาร์ทอัพในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย โดย TCDC ได้สนับสนุนให้คนเหล่านี้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ผสานกับสินทรัพย์ทางภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ นำไปสู่การสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี

นายปริวรรต กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับในปัจจุบัน NIA มีสตาร์ทอัพที่ร่วมพัฒนาธุรกิจภายใต้โปรแกรมสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ (Startup Thailand) อยู่ประมาณเกือบ 2,000 ราย และสตาร์ทอัพที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยประมาณ 1600 ทีม โดยสตาร์ทอัพส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโมบายล์แอปพลิเคชั่น การท่องเที่ยว (TravelTech) การบริการ และอีคอมเมิร์ซ และส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและตามหัวเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องกระจายตัวไปสู่ระดับท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าว่าในปี 2563 จะผลักดันให้มีสตาร์ทอัพที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในชุมชนเพิ่มขึ้นให้ได้ อย่างน้อย 200 ราย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในกลุ่มการเกษตร (AgriTech) สตาร์ทอัพด้านอาหาร (FoodTech) สตาร์ทอัพด้านสุขภาพ และสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากพร้อมสร้างความยั่งยืนและยกระดับชุมชน – สังคม ให้มีความน่าอยู่มากกว่าเดิม