'บิ๊กคอร์ป' รุกเศรษฐกิจหมุนเวียน หนุนยั่งยืนธุรกิจ

'บิ๊กคอร์ป' รุกเศรษฐกิจหมุนเวียน หนุนยั่งยืนธุรกิจ

ยักษ์ใหญ่หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน “เอสซีจี” ใช้ทุกกระบวนการผลิต สร้าง 2 โมเดลธุรกิจ “ไออาร์พีซี” ขยายโรงงานผลิตน้ำมันดิบจากขยะพลาสติก 4 แสนลิตรต่อเดือน “จีซี” ตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะพลาสติก

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่กำลังแพร่หลาย โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบสินค้า การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในกระบวรการผลิตที่คุ้มค่าและไม่เหลือเป็นขยะ

นายยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมุ่งดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนด SCG Circular way ด้วยการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาทรัพยากรที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ 

รวมทั้งผลิตที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต การขาย การตลาด และการขนส่ง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบการเช่าสินค้า และ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ เอสซีจีผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยพัฒนาโมเดลการดำเนินธุรกิจ 2 ส่วน ได้แก่ 1. Sharing Platform เป็นแพลทฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างคุ้มค่า เช่น PAPER X แพลทฟอร์มการซื้อขายกระดาษที่ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ขายที่ต้องการขายกระดาษ และผู้ซื้อที่ต้องการนำกระดาษไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

2.Product as a Service เป็นการนำเสนอสินค้าผ่านการให้บริการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการอย่างสูงสุด เช่น ALLRENT บริการเช่าอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้าง ซึ่งเอสซีจีในฐานะที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีเครื่องมือการก่อสร้างอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้าง พร้อมการดูแลรักษา ตามแนวคิด Product as a Service

157797522357

“ไออาร์พีซี”แปรรูปขยะพลาสติก

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้นในฐานะที่ ไออาร์พีซี เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ จึงได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มตัว และยังสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาล โดยได้ผลักดันโครงการ Zero Waste เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่กำจัดขยะพลาสติกให้เหลือศูนย์ ผ่านกระบวนการ 3 R (Reduce , Reuse , Recycle)

สำหรับโครงการหลัก ได้แก่ การขยายโรงงานแปรรูปขยะพลาสติกผ่านกระบวนการไพโรไรซิสให้เป็นน้ำมันดิบ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 1 แสนลิตรต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 4 แสนลิตต่อเดือน ซึ่งจะช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้สูงถึง 6,720 ตันต่อปี โดยได้ทยอยรับซื้อขยะพลาสติกมาตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากขยะพลาสติกจะมีต้นทุนไม่ต่างจากน้ำมันดิบที่นำเข้า และผ่านการรับรองจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพแล้ว

สร้างมาตรฐานสินค้ารีไซเคิล

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “นำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste” โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทคู่ค้าของ ไออาร์พีซี ทั้งนี้ เนื่องจาก ไออาร์พีซี เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกป้อนให้กับบริษัทคู่ค้าต่างๆ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งในกระบวนการผลิตจะมีเศษวัสดุพลาสติกที่เหลือจากการขึ้นรูป ดังนั้น ไออาร์พีซี จึงได้มองในเรื่องระบบบริหารจัดการ เพื่อนำเศษพลาสติกเหล่านี้นำกลับมาใช้ใหม่ให้ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ทั้งนี้ ปี 2563 ไออาร์พีซี จะสร้างฐานข้อมูลจัดทำเป็น Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมข้อมูล waste polymer จากแหล่งผลิตแต่ละโรงงาน ซึ่งลูกค้าจะเช้าถึงข้อมูลได้ และสามารถต่อยอด Matching นำไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลใหม่ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกจากต้นทาง โดยไม่ปล่อยของเสียออกนอกระบบ

ส่วนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเข้ามาช่วยวางมาตรฐานโรงงานรีไซเคิลพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล รวมทั้งรับรองมาตรฐานเหล่านี้ เนื่องจากในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเติบโตเร็วมาก ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ต้องการเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์กลาสติกที่มีส่วนของพลาสติกรีไซเคิลสูงมาก 

แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานหรือมาตรฐานรับรองว่าเม็ดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ผลิตจากขยะพลาสติกจริงหรือไม่ และมีสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และมาตรฐานตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นการที่ไทยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานเหล่านี้ จะทำให้สินค้าพลาสติกรีไซเคิลของไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น