Green is A New Black! เที่ยวรักษ์โลกเทรนด์แรง

Green is A New Black! เที่ยวรักษ์โลกเทรนด์แรง

เมื่อ“Green is A New Black!” กระแสการท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวเริ่มได้รับความสนใจในภาคท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะภาพของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่แค่ตื่นตัวทั่วไป แต่ลงมือปฏิบัติและปรับตัวรับเทรนด์นี้อย่างจริงจังมากขึ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่มีการบริโภคสูง และค่อนไปทางฟุ่มเฟือยด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องการใช้น้ำไฟภายในห้องพัก อาหารที่เหลือทิ้งขว้าง เกิดเป็นขยะที่ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

ส่งผลให้ผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจโรงแรม เริ่มปรับพฤติกรรมการใช้สินค้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง อย่างพวกหลอดหรือถุงพลาสติกต่างๆ หันมาใช้หลอดและถุงกระดาษแทน รวมถึงเลือกบริการน้ำดื่มบรรจุขวดแก้วที่นำไปรีไซเคิลได้

ขณะที่เรื่องอาหารเครื่องดื่มและวัตถุดิบ ได้มอบหมายให้แผนกครัวคำนวณปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดขยะและของเสียจากอาหาร (Food Waste) นอกจากนี้ โรงแรมหลายแห่งยังเลือกซื้อสินค้าเกษตรแบบออร์แกนิค ปลอดภัย ไร้สารเคมีมากวนใจ ด้วยการสั่งซื้อจากฟาร์มโดยตรง เพราะเห็นข้อดีที่นอกจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยวซึ่งหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มักจะได้รับฟีดแบ็คคำชมจากลูกค้า สร้างผลลัพธ์ที่ดีในการบริหารชื่อเสียงของโรงแรม

หลังจากประเด็นเรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติของภาคท่องเที่ยวไทย ถูกจับตามาตลอดว่าจะเร่งมือแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะเมื่อดูรายงานTravel & Tourism Competitiveness Report 2019 ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ พิจารณาจากดัชนี 14 รายการจัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือ “World Economic Forum” พบว่าไทยอยู่อันดับที่ 31 ของโลก จาก 140 ประเทศทั่วโลก แม้อันดับโลกจะดีขึ้นจากอันดับที่ 34 เมื่อปี 2017 ยังเป็นรองสิงคโปร์ (อันดับ17)และมาเลเซีย(อันดับ29)แต่ดัชนีที่มีอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวน้อยที่สุด คือความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (อันดับ130) เลยทีเดียว

หนึ่งในปัญหาเรื้อรังคือขยะล้นเมือง เพราะจากการสำรวจล่าสุด พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่5ของโลกที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะ โดยในปี 2561 มีปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอย จำนวน 27.8 ล้านตัน​ แบ่งเป็นขยะพลาสติกปริมาณ 2 ล้านตัน และมีการนำมารีไซเคิลเพียงแค่ 5 แสนตัน หรือประมาณ 25% เท่านั้น ทำให้ขยะที่เหลือมีการกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี บ้างไหลลงสู่คลอง บ่อฝังกลบ หรือเป็นขยะบนท้องถนน

ด้านโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกระยะยาว ตั้งแต่ปี 2561-2573 ของกรมควบคุมมลพิษเป้าหมายแรกคือการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ในปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่วนอีก 4 ชนิดในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือการนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)100% ภายในปี 2570

ยุทธศักดิ์ สุภสร​ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและปัญหาขยะทะเล พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชน รณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวตระหนักและลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้ไทยสามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทางทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 5 ลงมาอยู่ที่อันดับ 10 ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ททท.วางเป้าหมายด้วยว่าภายในปี2563ซึ่งเป็นปีที่ ททท.ครบรอบ60ปี จะลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ลดลง 50% โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง พร้อมส่งเสริมการใช้วัสดุสำหรับทดแทนพลาสติกและภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำ ไม่สร้างภาระในการกำจัดให้กับแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงชุมชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่

ในปี2563ททท.จะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)มาเป็นอันดับ1เพื่อกระตุกให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ว่าการ ททท.กล่าวปิดท้าย