สหพัฒน์ กำเงิน 'หมื่นล้าน' รอจังหวะรุกอสังหาฯ-อาหาร

สหพัฒน์ กำเงิน 'หมื่นล้าน' รอจังหวะรุกอสังหาฯ-อาหาร

“สหพัฒน์” ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค มีธุรกิจครบวงจรครอบคลุมการผลิตจนถึงค้าขาย หรือ “ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” ทำรายได้เฉียด “3แสนล้านบาท” ต่อปี ยังคงมองหาโอกาสสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ แม้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) และกำลังซื้อจะไม่เอื้อก็ตาม

ปี 2563 ต่อให้ภาพรวมตลาดหดตัวลง แต่สหพัฒน์ยังต้องเติบโต เพราะเราต้องสู้ หากปล่อยให้ธุรกิจเราตกตามตลาด นั่นเป็นเพราะผู้บริหารที่ไม่มีความท้าทายในใจ มุมมอง วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)หรือเอสพีไอ บริษัทลงทุนในเครือของสหพัฒน์

ปัจจัยลบจึงไม่ใช่ “ข้ออ้าง” ในการเติบโตของบริษัท แต่การโตมากโตน้อยก็ขอให้ โต” เช่น จีดีพีหดตัว บริษัทอาจโต 1% ขณะเดียวช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เอสพีไอ มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ จากลงทุนในหุ้นบริษัทต่างๆ ให้เช่าและบริการ รวมถึงพัฒนาสวนอุตสาหกรรม ทว่า ปัจจุบันพลิกภาพลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงพัฒนาสวนอุตสาหกรรมควบลงทุนในธุรกิจอื่นๆมากขึ้น ยังทำให้บริษัทโตต่อเนื่อง ธุรกิจหลายตัวที่ผู้เล่นรายอื่นยอดตก แต่สหพัฒน์โตได้ มีส่งออก ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์กระเทือนบริษัทไม่ต่างจากรายอื่น

“เราโตดับเบิ้ลหรือโตราว 11-13% ต่อเนื่องทุกปี” เขาบอกและย้ำปี 2563 ต้องการรักษาโมเมนตัมการโต 2 หลักไว้ แผนธุรกิจหนุนเป้าหมายดังกล่าวมีหลากกลยุทธ์ โดยเฉพาะการ ลงทุน” ที่บริษัทกำเงิน หมื่นล้าน” รอจังหวะดีๆเพื่อขยายธุรกิจ

งบลงทุน ปีหนึ่งเราทำได้ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างปีที่ผ่านมาตั้งงบลงทุนไว้หมื่นล้าน แต่ใช้จริงหลักพันล้านบาท” ส่วนธุรกิจที่ต้องการเข้าไปลงทุนมากขึ้น คือเดินตามโครงสร้างใหม่ เช่น ธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะการเจรจาเข้าซื้อกิจการอาหารประเภท แช่แข็งหลายราย รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชอบความสะดวกสบาย

จุดเด่นของอาหารแช่แข็ง คือความสะอาด ดูข้อมูลโภชนาการได้ เทียบกับอาหารสด ส่วนตลาดดังกล่าวมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่อง โดยเครือสหพัฒน์ มีระบบโลจิสติกส์ และการส่งสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือ Cold Chain เสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่ายอยู่แล้ว

บริษัทยังสนใจการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เบื้องต้นสนใจโครงการประเภทอาคารสำนักงานหรือออฟฟิศ มูลค่าโครงการหลายพันล้านบาท รองรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ บริษัทในเครือและพันธมิตรที่ร่วมลงทุนกับเครือจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่น รูปแบบจะต้องเปลี่ยน มีพื้นที่ทำงานร่วมกัน (โคเวิร์กกิ้งสเปซ) แบ่งปันสิ่งต่างๆ มีพื้นที่สาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยคาดว่าโครงการจะเปิดตัวเร็วๆนี้

นอกจากนี้ จะเปิดตัวห้างค้าปลีกรูปแบบสเปเชียลตี้ สโตร์คอนเซปต์ใหม่ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและเก็บเป็นฐานข้อมูล(ดาต้า)สู่การพัฒนาสินค้าใหม่ๆตอบสนองตลาดในอนาคต ล่าสุดเปิดร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง “โคเมเฮียว” รับไลฟ์สไตล์คนไทยชอบชอปปิง มองโอกาสจากธุรกิจบริการด้านสุขภาพหรือเมดิคัล เฮลท์แคร์ เซอร์วิส และการลงทุนในสตาร์ทอัพ เพื่อเรียนรู้

ธุรกิจเดิมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ ยังใหญ่และทำกำไรอยู่ แต่เครือข่ายธุรกิจจากนี้ไปจะไม่อยู่แค่สิ่งทอ เครื่องสำอาง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค การพัฒนาสวนอุตสาหกรรมยังเดินหน้า เพราะมีที่ดินนับหมื่นไร่ แต่บริษัทสนใจธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจบริการ อาหารมากขึ้น และคาดว่าจะเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโออีกมาก ธุรกิจอาหารดีกว่ารีเทล แต่ธุรกิจรีเทลจะทำให้เรารู้ข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคโดยตรง และเราผลิตสินค้าอย่างเดียว 50 ปี 100 ปี  ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ การผลิตสินค้าถูกต้องกับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ เช่น ผู้บริโภคอยากได้สินค้าขนาด 100 มิลลิลิตร(มล.) แบบซองฯ สิ่งนี้ทำให้เราต้องทำรีเทล

ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น ทำให้วางสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 50% ใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 30-40% สิ่งทอ 30-40% เครื่องสำอาง 20%

“การลงทุนต้องระมัดระวัง เพราะตอนนี้ธุรกิจโดนดิสรัปหลายด้าน การสินค้าผ่านช่องทางห้างลดลงเพราะออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น ทำให้เราต้องทรานส์ฟอร์มตัวเอง โดยเฉพาะความคิดในการทำงานให้มีความทันสมัย ดึงคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนองค์กรมากขึ้น การเข้าสู่ธุรกิจต่างๆต้องเร็ว ช้าไม่ได้”

สำหรับภาพรวมรายได้ปีนี้บริษัทคาดว่าจะเติบโตอัตรา 2 หลัก ส่วน 9 เดือน รายได้รวมกว่า 3,900 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 1,700 ล้านบาท