ครม.ปรับเกณฑ์ชดเชยผู้โดยสารสายการบินสอดคล้องเกณฑ์ 'ICAO'

ครม.ปรับเกณฑ์ชดเชยผู้โดยสารสายการบินสอดคล้องเกณฑ์ 'ICAO'

ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศให้สอดคล้อง ICAO เพิ่มอัตราชดเชยกรณีผู้โดยสารเสียชีวิต-ความล่าช้า-สัมภาระสูญหาย หรือถูกทำลาย

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (2ม.ค.) เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

โดยการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในครั้งนี้เป็นไปตามข้อแนะนำของสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้มีหนังสือถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 แจ้งเรื่องการทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามข้อ 24 ของอนุสัญญาฯ ในการได้พิจารณาทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามอนุสัญญาฯ ตามรอบระยะเวลา 5 ปี โดยอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อสะสมซึ่งเพิ่มขึ้น 13.9% ตาม พรบ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.กรณีคนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย (มูลค่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งไม่อาจบอกปัดหรือจำกัดได้) ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่  4,784,763 บาท เป็น 5,462,491 บาท

2.กรณีความล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร ตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่  198,582 บาท เป็น  226,690 บาท

3.กรณีสัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า ตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 47,848 บาท เป็น 54,616 บาท

และ 4.กรณีของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า ตามมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ เดิม มีเกณฑ์ความรับผิดอยู่ที่ 804 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 933 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป